วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คนปลูกดอกไม้ : ถวัลย์ ดัชนี





คนปลูกดอกไม้ : ถวัลย์ ดัชนี
เรื่อง > สุพรรณ ทำนา ภาพ > ชัยชนะ สิมะเสถียร


‘ไม่ใช่งานง่าย’ กระทั่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นงานยากและท้าทายที่สุด

ความยากชั้นแรก ถวัลย์ ดัชนี คือศิลปินใหญ่ (ทั้งรูปร่าง อายุ และผลงาน) ของเมืองไทย นั่นหมายความว่าทุกแง่มุมของเขาย่อมถูกขุดข้นและพลิกควานชนิดทะลุปรุโปร่งจากสื่อมวลชนมาแล้ว ความยากชั้นที่สอง เล่ากันมาว่าถวัลย์ ดัชนี นั้นอารมณ์เกรี้ยวกราด หากพูดคุยไม่ถูกคอ หรือหลุดคำถามไม่ฉลาดออกไปอาจโดนเขาไล่กลับได้ง่ายๆ

เพียงสองข้อนี้ก็คงไม่ต้องเสาะหาเหตุผลอื่นใดมาพูดพร่ำถึงความยากได้อีกกระมัง

‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ ภาษิตบางตอนจากวรรณกรรมเอกเรื่องสามก๊กจึงผุดขึ้นมาในหัว ผมตะลุยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับถวัลย์ ดัชนี ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าแม้รู้อยู่เต็มอกว่าการสัมภาษณ์กับการรบนั้นเป็นคนละเรื่อง ยิ่งเรื่องแพ้-ชนะยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะการสนทนาไม่ใช่เกมการแข่งขัน หากการสัมภาษณ์คือการถอดถ่ายความรู้ ทัศคติ ความคิด อันหลอมเป็นตัวตนของคนคนนั้นออกมา แม้รู้อย่างนี้ ผมก็ยังไม่อาจหักห้ามความประหม่าและความตื่นกังวลได้

“... ถ้าเป็นไปได้ผมไม่อยากจะคุยเรื่องศิลปะ เพราะเรื่องอะไรพวกนี้ผมพูดมาเยอะแล้ว” เสียงถวัลย์เมื่อครั้งที่คุยกันทางโทรศัพท์แว่วเข้ามาในโสตประสาท ยิ่งเป็นเชื้อให้ความกังวลประทุขึ้นอีกทับทวี

ข้อมูลจากการอ่าน, ปัจจุบัน ถวัลย์ ดัชนี อายุ 65 ปี ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกนับแทบไม่ถ้วนทั้งจากประเทศแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น ทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งประเทศแถบยุโรป และว่ากันว่าภาพเขียนของเขาราคาสูงที่สุดในเมืองไทย (20 ล้านบาท)

เมื่อจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง ถวัลย์ ดัชนี ได้เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเขาเลือกเรียนสาขาจิตรกรรม จากนั้นสามารถสอบชิงทุนระดับปริญญาโทและเอกไปเรียนต่อ ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมแล้วถวัลย์ใช้ชีวิตอยู่ประเทศแถบยุโรปกว่าสิบปี จึงไม่แปลกที่เขาจะพูดได้ถึง 6 ภาษา

น้อยคนนักจะรู้ว่าถวัลย์นั้นเป็นด็อกเตอร์ ซ้ำยังเป็นด็อกเตอร์สาขาปรัชญาและสุนทรียศาสตร์อีกด้วย

ทั่วโลก ถวัลย์มีบ้านอยู่จำนวนสามสิบห้าหลัง หลังที่พิเศษคือบ้านที่ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย ซึ่งเขาได้สร้างเป็นงานสถาปัตยกรรมอันงดงามในอาณาบริเวณทั้งหมดที่มีอยู่ เหตุนี้เองเขาจึงเป็นจิตรกรเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรม จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ถึงวันนัดสัมภาษณ์ ขณะที่เดินเข้าไปในหอศิลปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ก็พบกับถวัลย์ ดัชนี ซึ่งตอนนั้นกำลังนั่งพูดคุยกับกลุ่มนักเรียนที่เข้ามาชมงานแสดงด้วยใบหน้าที่... ไม่มีความเป็นคนเจ้าอารมณ์หรือเกรี้ยวกราดอย่างที่ได้ยินมาแม้แต่น้อย สิ่งที่เห็นกลับเป็นใบหน้าของชายชราใจดี น้ำเสียงที่เปล่งออกมานั้นก็ช้าเนิบ เป็นจังหวะ และชวนฟัง

ณ เวลานั้นงานแสดงเดี่ยวในรอบ 30 ปีในประเทศไทยของถวัลย์ ดัชนี ชื่องานว่า ‘ไตรสูรย์’ เปิดแสดงมาแล้วสองเดือนเศษๆ โดยจะแสดงยาวถึงเดือนมกราคม ปี 2548 และครั้งนี้อาจเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งสุดท้ายของเขา

“ก่อนจะสัมภาษณ์เรามาทำความรู้จักกันก่อนแล้วกัน” ถวัลย์ ดัชนี เอื้อนเอ่ยชัดถ้อยชัดคำหลังจากเข้าไปแนะนำตัวว่าเป็นใคร มาจากไหน และต้องการทำอะไรกับเขา จากนั้นเขาจึงพาขึ้นบนชั้นหกของหอศิลป์ฯ เพื่อนั่งพูดคุยกัน

ช่วงหนึ่งของการพูดคุยก่อนสัมภาษณ์อย่างเป็นงานเป็นการถวัลย์ถามว่า หนังสือ mars คือหนังสืออะไร กลุ่มคนอ่านเป็นใคร หลังฟังคำอธิบายจบเขาจึงเล่าถึงนิตยสารต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ยุโรปนั้นแยกย่อยเป็นกลุ่มเฉพาะเต็มไปหมด แม้เมืองไทยจะมีข้อมูลว่าบนแผงหนังสือปัจจุบันมีนิตยสารมากกว่าสามร้อยหัวนั้น หากเทียบกับประเทศแถบยุโรปแล้ว เขาบอกว่ามีจำนวนน้อยนิดเลยทีเดียว

เพราะการทำความรู้จักกันก่อนแท้ๆ ความคิดบางอย่างจึงพลันสว่างขึ้นมา—ผมจะชวนถวัลย์ ดัชนี คุยเรื่องการอ่าน!

ในฐานะของคนที่ทั้งเรียน ทั้งทำงานศิลปะในประเทศตะวันตกมาสิบกว่าปี หากเจาะจงเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน คุณมองเห็นความต่างเรื่องนี้อย่างไร ระหว่างประเทศตะวันตกกับบ้านเรา

เรื่องการอ่าน ม.ล. มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิด้านการอ่าน การเขียนของของบ้านเรา ท่านบอกว่าในจำนวนคนหกสิบล้านคนในบ้านเรา เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งอ่านหนังสือคนละไม่ถึงสิบหน้า ซึ่งเรื่องการอ่านนี้ผมวิเคราะห์ว่า... เนื่องจากคนตะวันออกนั้นอ่านจากธรรมชาติ เรามีฤดูร้อน มีฤดูฝน มีฤดูหนาว เรามีลมพัด มีภูเขา มีทุ่งราบ ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผ่นดินไหว เราไม่มีโคลนถล่ม ไม่มีภูเขาไฟระเบิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอ่านจึงเป็นธรรมชาติ เราแทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะมาอ่านข้อมูลที่เขียนเอาไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลแห้ง ส่วนในยุโรป เขามีฤดูหนาวอันยาวนานถึง 10 เดือนต่อหนึ่งปี ฉะนั้น เขาจึงต้องถนอมทั้งความคิด ทั้งอาหาร รวมไปถึงการใช้ชีวิต

สื่อต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และนาฏกรรม จึงถูกนำมาเสนอแก่ผู้ซึ่งถูกตรึงไว้กับภูมิอากาศที่ครอบคลุมอยู่ ฉะนั้น เขาจึงต้องมีวรรณกรรม มีวัฒนธรรมในการอ่านหนังสือ ส่วนในบ้านเรา-ไม่มีวัฒนธรรมในการอ่านพระไตรปิฎก เพราะคนที่อ่านคือพระเท่านั้น เพราะท่านรู้ภาษาบาลีและสันสกฤต บ้านเราจึงไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน ไม่มีวัฒนธรรมการฟัง ถึงฟังเราก็ไม่รู้ความหมาย มีเพียงศรัทธาจริตที่ฟังว่า นะโม ตัสสะ ภควโต เราก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ หรือพ่อแม่สอนให้ไหว้พระเราก็ไหว้ไปอย่างนั้นแหละ ตรงนี้คือการควบคุมกายชนิดหนึ่งเรียกว่ากายานุสติปัฏฐาน คือรู้จักการนั่ง นอน ยืน เดิน หายใจ แต่ไม่เข้าใจ เพียงแค่รู้สึกว่านี่คือของศักดิ์สิทธิ์ เป็นความสูงส่ง แต่ไม่เข้าใจ เพราะวัฒนธรรมของเราไม่ได้สอนเพื่อการเข้าใจ วัฒนธรรมของเราสอนให้เกิดศรัทธาจริตและความรู้สึก แล้วปกติ 10 เดือนเราอยู่ข้างนอก ส่วนฤดูหนาวเราก็มีแค่เดือนเดียว อย่างมากก็สองเดือน แต่ทุกวันนี้อาจะเหลือครึ่งเดือนด้วยซ้ำ เราจึงสนุกสนานกับการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกบ้าน สนุกสนานกับชั้นบรรยากาศ เรามีผลไม้กินตลอดปี มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เราจึงไม่ต้องถนอมอาหารทีละมากๆ ไม่จำเป็นต้องมีตู้เย็น ส่วนประเทศแถบยุโรปเขาจำเป็นต้องอยู่ในบ้านเป็นสิบๆ เดือน ขณะที่บ้านเรามีแต่พระเท่านั้นที่อ่านพระไตรปิฎก ส่วนบ้านเขาใครๆ ก็อ่านไบเบิลได้ เพราะเป็นภาษาที่เขาอ่านรู้เรื่อง เด็กๆ อ่านรู้เรื่อง มีครูสอน ขณะเดียวกัน-จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเขา มีอยู่ในบ้านเมืองเขาสามพันปีมาแล้ว เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ส่วนบ้านเราเกิดมีวัฒนธรรมขึ้นมาจริงๆ ก็แค่เจ็ดร้อยปี ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีศรีวิชัย มีทวารวดี มีลพบุรี แต่ก็ไม่เรียกยุคอารยธรรม เพราะยังไม่มีศิลาจารึก พอมีศิลาจารึกเราก็ขาดตำนาน บางทีมีตำนาน มีศิลาจารึก แต่ขาดศิลปะ เมื่อใดที่มีศิลปะ มีศิลาจารึก มีตำนาน เราจึงจะอ้างอิงได้ว่านี่คือประวัติศาสตร์ แต่เมื่อประวัติศาสตร์ของเราเป็นเพียงแค่เชียงแสนขึ้นมา แต่เราก็ไม่รู้ว่าเชียงแสนมาจากไหน อยู่ดีๆ ก็เป็นคลาสสิกขึ้นมาเลย สุโขทัยก็เป็นคลาสสิก อู่ทองก็เป็นคลาสสิก อยุธยาก็เป็นคลาสสิก เราไม่มี primitive มาก่อน ไม่มี Ascetic มาก่อน อยู่ๆ ก็เป็นคลาสสิกขึ้นมาเลย เราไม่มีชุมชนบุรพกาลว่าเราสร้างบ้านแปงเมืองมาขนาดไหน เราค้นตัวหนังสือไทยได้แค่เจ็ดร้อยปี วัฒนธรรมที่มีมาเพียงเจ็ดร้อยปีจะไปเทียบกับวัฒนธรรมที่เขามีสามพันปีได้อย่างไร หรือจะบอกว่าอเมริกาที่เขาเพิ่งก่อตั้งมาสองร้อยปี แต่บรรพบุรุษเขาก็มาจากยุโรปกันทั้งนั้น อ่านหนังสือกันมาทั้งนั้น

เมื่อไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน การดู และการฟัง เราจึงไม่มีวัฒนธรรมในการดูจิตรกรรม ประติมากรรม อย่างมากก็เป็นได้แค่รูปเคารพในการทำศาสนพลี แล้วบ้านเรือนของเราก็เป็นแค่บ้านเรือนเครื่องผูก เป็นแค่กระต๊อบ นอกจากขุนนางวังน้ำเท่านั้นที่เป็นเรือนไม้ ส่วนตึกนั้นยิ่งไม่มีใหญ่ เราอาศัยอยู่ในภูมิประเทศแบบ... คืออยู่แบบยึดถือไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่ยึดถือความมั่นคงว่าต้องสร้างตึกหิน ทำด้วยอิฐ เพราะเราไม่มีหิมะ ไม่มีลมหนาว เราก็เลยอยู่แบบง่ายๆ เราจึงทำแค่กระต๊อบ มุงหลังคาด้วยจาก ด้วยใบตอง ฉะนั้น งานศิลปะได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวรรณกรรมจึงจำกัดอยู่แค่เจ้าขุนมูลนายที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น ส่วนไพร่ฟ้าทั้งหลายก็ยากที่จะไปรับสัมผัสอันนี้ ส่วนในต่างประเทศมันเป็นเรื่องจำเป็น

ทีนี้ ย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน หนังสือที่บอกว่าขายดีที่สุดอย่างหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย วันหนึ่งอย่างมากก็ไม่เกินห้าล้านฉบับ คน 62 ล้านคน หรืออย่างคนที่เรียนมาด้านอักษรศาสตร์หรืออะไรก็ตาม คุณลองไปถามดูสิว่าก่อนจะมาเรียนเขาเคยอ่านโองการแช่งน้ำไหม เคยอ่านไตรภูมิพระร่วงไหม เคยอ่านลิลิตพระลอ, ทวาทศมาส, ศรีปราชญ์, สมุทรโฆษคำฉันท์, ขุนช้างขุนแผน,นิราศนรินทร์, นิราศธารทองแดง,นิราศของเจ้าพระยาตรัง หรืองานร้อยแก้วของเสถียร-โกเศศ นาคะประทีป เรื่องกามนิตไหม พลนิกร กิมหงวน ล่ะเคยอ่านไหม แล้วสามสิบปีถัดมาก็เรื่อง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน ซึ่งมาจากของเทรเดอร์ แฮกการ์ด ที่เขียนไว้ช้านานมาแล้ว เคยอ่านไหม

ที่ต่างระเทศ, ก่อนจะเกิดงานเขียนของเออเนสต์ เฮมิงเวย์ แจ๊ก ลอนดอน ได้เขียนมาก่อนแล้ว เช่น The Call of the Wine เป็นเรื่องการชกมวย ซึ่งเป็นแม่บททำให้เกิด The Sun also rise, To have and have not, The old and the sea งานของเฮมิงเวย์ มันสืบเนื่องกันมา แต่ของเรานี่--มันสะบั้นโคนรากแก้วมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากเจ้ามาเป็นไพร่ เมื่อก่อนเจ้าจะทะนุบำรุงจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรมและนาฏกรรมเอาไว้ทั้งหมด แต่พอเจ้าสิ้นอำนาจ ไพร่ขึ้นมาครองเมืองเมื่อ 60 ปี ไพร่เหล่านี้ไม่มีสุขุมรสใดๆ เลย ก็เลยไม่มีใครมาช่วยเหลือจิตรกร ประติมากร วรรณกร สถาปนิก และนาฏกร เมื่อสะบั้นรากแก้วเหล่านี้เสียแล้ว จิตกรก็ไม่มีใครจ้างไปเขียนรูปให้วัดให้วัง ประติมากรก็ไม่รู้จะปั้นรูปให้ใคร วรรณกรก็ไม่มีคนอุดหนุนให้ทำงาน ดังนั้น พวกจิตรกร ประติมากร สถาปนิก วรรณกร นาฏกรจึงกลายเป็นคนยากจนข้นแค้น ไม่มีใครเข้าใจ คนพวกนี้อยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว เราจึงไม่มีใครที่เป็นจิตรกรแล้วสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จิตรกรที่ผมหมายถึงก็คือคนที่เขียนรูปอย่างที่อยากเขียน ไม่ใช่คนที่รับจ้างเขียนรูปให้แก่พ่อค้าวาณิชหรือนายธนาคาร อย่างนี้ไม่ใช่การทำงานศิลปะ แต่รับจ้างวาดรูป ประติมากรก็ปั้นพระ ปั้นหลวงพ่อหลวงปู่กันไป ออกแบบเหรียญอะไรไป ไม่ได้สร้างงานศิลปะเอาไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจหรือเพื่อแสดงความรู้สึกอันงดงามของตนเองอะไร วรรณกรรมก็ออกมาเป็นวรรณกรรมที่เลวทรามต่ำช้า เพื่อรับใช้มวลชนชั้นรากหญ้า เอามาทำเป็นหนังเป็นละคร ไม่มีทั้งรสนิยม ไม่มีทั้งความคิด มอมเมาผู้คนมาโดยตลอด สถาปัตยกรรมก็มีสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง ไม่มีความเป็นชนชาติ ไม่มีความเป็นตะวันออก กระทั่งทุกวันนี้เราก็รับมนสิการจากฝรั่ง หลายคนต้องใส่สูท ผูกไท อยู่ในห้องแอร์ ฝรั่งเองเขาจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะอากาศหนาว หิมะตก แล้วเราเกี่ยวข้องอะไรกับเขาล่ะ บ้านเราร้อนจนตับแลบ

ก่อนจะสวรรคต รัชกาลที่สามท่านเรียกลูกทั้งหมดมาแล้วตรัสว่า การศึกฝ่ายพม่าฝ่ายเขมรไม่ต้องไปสนใจแล้ว ฝรั่งยึดไปหมดแล้ว ฝรั่งจึงน่าสนใจ สิ่งดีๆ ควรจะเรียนรู้จากเขาไว้ แต่อย่าเลื่อมใสเขาเสียทีเดียว แต่เราเล่นไปเลื่อมใสฝรั่งเสียจนยกเมืองให้แก่ฝรั่ง ยกความคิดให้แก่ฝรั่ง เราคือทาสที่ปลดปล่อยไม่ไปของฝรั่ง ทั้งที่ฝรั่งบอกว่าไม่เอาหรอก เขาไม่ได้ยึดเราเป็นเมืองขึ้น แต่เราอยากเป็นทาสของฝรั่ง ฝรั่งบอกไม่เอาๆ เราก็ขอ ขอเป็นทาส เป็นทาสทั้งรูปแบบ ทั้งเนื้อหา ทั้งความคิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงเป็นแบบนั้น ในฐานะที่ผมเป็นคนไทย ผมมาจากวัฒนธรรมล้านนา ผมมาจุ่มอยู่ในวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ แล้วผมไปจุ่มอยู่ในวัฒนธรรมยุโรป รวมทั้งอเมริกา สาเหตุที่ทำแบบนั้นเพราะผมต้องการเรียนรู้จากฝรั่งว่าเขาคิดอย่างไร นำเสนออย่างไร แต่ผมก็คือคนเอเชีย ฉะนั้น สิ่งที่ผมทำทั้งหมดคุณจะเห็นว่าผมธำรงรักษาแสงเพลิงทางพุทธิปัญญาของตะวันออกเอาไว้ แต่ผมเป็นตะวันออกที่ร่วมสมัย ไม่ใช่ตะวันออกที่ต้องเขียนลายกนก ลายไทย ผมเน้นที่ลมหายใจและจิตวิญญาณของความเป็นตะวันออก ผมเป็นคนไทยร่วมสมัยที่ยังหายใจอยู่ใน พ.ศ. นี้ ไม่ใช่ไทยโบราณ

อย่างที่พูดไป เมื่อไม่มีใครมาดูแลจิตรกร สถาปนิก ประติมากร วรรณกร นาฏกร บ้านเมืองมันจึงได้เละเทะอย่างนี้ เราล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เดี๋ยวเราก็มีกระทรวงเกี่ยวกับวัฒนธรรม แต่พอผู้ปกครองบ้านเมืองเห็นว่าไม่มีประโยชน์ก็ยกเลิกกันซะ แล้วก็เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อสองสามปีนี้เอง แล้วกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้สนใจจะทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมจริงๆ คนที่มาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมเอาเสียเลย ไม่มีใดๆ เลยทั้งสิ้น อย่างมากก็แค่มาบอกว่า เมื่อทักทายกันต้องสวัสดี ต้องก้มตัวลงกราบผู้ใหญ่ นั่นไม่ใช่วัฒนธรรม (เน้นเสียง) มันแค่ประเพณี ขนบธรรมเนียม เป็นแค่ของเล็กๆ น้อยๆ เป็นเพียงหนังกำพร้า ต้องขอเน้นว่าคนที่มาทำงานนี้ในประเทศไทยไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมเอาเสียเลย ทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือวรรณกรรม แม้แต่น้อย เขามาโดยตำแหน่ง มาโดยพวกพ้อง หรือช่องทางอะไรของเขาก็ไม่รู้ บ้านเมืองถึงไม่เจริญก้าวหน้าในด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะคนที่ทำงานเขาคิดว่าไม่ใช่ฐานเสียงของเขา ไม่ใช่ลมหายใจของเขา ทุกวันนี้เขาเข้าใจกันว่าถ้าทำศิลปะก็ต้องเป็นเรื่องหัตถกรรม เรื่องโอท็อป เรื่องอะไร เพื่อให้ฝรั่งไว้ดู แต่ไม่ใช่งานศิลปะบริสุทธิ์ที่สามารถยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปของมรดกทางวัฒนธรรมในชาติ เป็นประจักษ์พยานทางจิตของมนุษยชาติ ธำรงคงอยู่ซึ่งมรดกของความเป็นมนุษย์ เราแยกกันไม่ออกว่าอะไรคืองานศิลปะ อะไรคืองานหัตถกรรม ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือ ในที่สุดแล้วต้องบอกว่าเราแยกไม่ออกระหว่างรัศมีดวงดาวบนท้องฟ้ากับรอยตีนหมาที่สะท้อนแสงในโคลนตม

เราไม่มีผู้รู้ บ้านเมืองเลยต้องเป็นแบบนี้ นอกจากไม่มีผู้รู้แล้ว ยังไม่มีผู้รู้สึกอีก เราจึงไม่รู้สึกรู้สมอะไร ก็อยู่กันไปแบบนี้ ถึงจะรู้ว่าบ้านเมืองไม่มีผังเมือง เราก็ไม่เห็นว่าน่าเกลียดอะไร ไม่เดือดร้อน ถึงจะมีสลัมเต็มไปหมด เราก็เรียกใหม่ซะว่าชุมชนแออัด แล้วสลัมก็ไม่มีอีกต่อไป เราไม่แก้ไข เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเฉยๆ จิตรกร ประติมากร สถาปนิกก็ไม่มีใครสนใจอย่างเก่า ก็ทำมาหากินกันไปสิ เลี้ยงตัวเองไปสิ รับจ้างอาแปะ อาซิ้ม อากง นายธนาคาร เขาจ้างให้ทำอะไรก็ทำไปสิ แต่อย่าเสนอรูปแบบหรือเนื้อหาอะไรเองนะ ต้องทำตาม เขาอยากได้แบบไหนก็จงทำตาม เมื่อเป็นอย่างนี้ศิลปะมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สมัยเป็นนักเรียน ผมไปพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ มีเส้นทางสายหนึ่งเขาเขียนไว้ว่า เส้นทางนี้ของ Truman capotes เขากำลังเขียนหนังสือ อย่าเดินไปนะ เดี๋ยวจะทับเส้นทางเขา อย่าไปทักทายเขานะ เพราะขณะนั้นเขาอาจจะกำลังคิดอะไรอยู่ก็ได้ ถ้าทักอาจทำให้ความคิดของเขาสะดุด เส้นทางนี้ของ ฮาโร รอบบิ้นส์ เขากำลังเขียนนวนิยายเรื่อง The Dream Die First แต่ยังไม่ทันจะเขียนทางฮอลลีวูดก็เอาเงินมาวางให้ 15 ล้านเหรียญ เขียนเสร็จแล้วจะขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อทำเป็นหนัง แต่บ้านเรา--คนที่เป็นวรรณกร เป็นกวี กว่าจะเขียนหนังสือขึ้นมาได้เล่มหนึ่ง นอกจากต้องใช้เรี่ยวอย่างมากมายในการเขียนแล้ว ต้องวิ่งไปหาสำนักพิมพ์ กว่าจะได้พิมพ์ขึ้นมาสักเล่มหนึ่งได้ ซึ่งได้เล่มละไม่กี่บาท บางคนไปศึกษาศิลปะอยู่แถวอยุธยา ต้องอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ใช้เวลาสองปีกลับมาเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่ง แต่ค่าลิขสิทธิ์หนังสือได้ไม่กี่พันบาท ฉะนั้น เราจึงมีแต่คนยากคนจนที่ประกอบงานศิลปะ เพราะไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่มีคนสนใจ ไม่มีใครเห็นมูลค่าและคุณค่า แล้วจิตรกร ประติมากร วรรณกรก็เหมือนชาวนา...ที่เขาปลอบใจว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของแผ่นดิน เขาพูดให้สวยงาม เพื่อเอาใจกันไปอย่างนั้นแหละ ศิลปินทั้งหลายก็เป็นรากแก้วของสติปัญญา แต่เขาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรคุณ เขาไม่ได้สนใจคุณ คุณทำอะไรออกไปก็อยู่ในวงแคบๆ ถ้าดูที่ต่างประเทศ ผมมีเพื่อรุ่นพี่อย่างจัสเปอร์ จอห์น เป็นจิตรกร รูปเขาอย่างต่ำที่สุดล้านเหรียญขึ้นไป ฉะนั้น ศิลปินจึงสามารถซื้อเกาะส่วนตัวได้ ซื้อเครื่องบินไอพ่นได้ ไม่ต่างอะไรกับนักกอล์ฟหรือนักฟุตบอล ดังนั้น คุณจะเห็นว่าในดาวเคราะห์ดวงนี้สิ่งที่แพงที่สุดคืองานศิลปะ ไม่ใช่พ่อค้าน้ำมันหรือพ่อค้าทั่วๆ ไป ตอนนี้-งานของแวน เก๊าะห์ รูปหนึ่งก็เป็นหมื่นล้าน งานของปิกัสโซนี่จะแสนล้านเข้าไปแล้ว แต่บ้านเราจะเอาสักหมื่นหนึ่งหรือแสนหนึ่งแทบไม่มีหรอก ได้แค่สี่ห้าพันก็บุญแล้ว

ที่ยุโรปหรืออเมริการัฐบาลเขาจะช่วย เขามองเห็นว่าเขียนรูปแบบนี้ ไม่มีคนซื้อหรอก เพราะน่ากลัวเกินไป จริงเกินไป เขาก็จะมีรัฐบาลกลางมาซื้อเอาไว้ เพราะคนพวกนี้ทำงานอย่างที่เขาอยากทำ ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร แต่บ้านเราเขาห้ามไม่ให้คิด จิตรกร ประติมากร สถาปนิก คุณต้องฟังคำสั่งเจ้านาย แต่เจ้านายไม่ต้องรู้เรื่องศิลปะอะไรเลย เขาอยากได้ตึกแบบนี้ คุณเป็นสถาปนิกคุณก็ต้องทำ ถ้าเป็นจิตรกรเขาบอกว่ามีห้องขนาดนี้ มีสีอย่างนี้ คุณก็ทำไปอย่างที่สั่ง ตอนนี้ทุกอย่างในบ้านเรามันจึงกลายเป็นอาหารตามสั่ง นี่คือโฉมหน้าบ้านเรา



ในเมื่อคนเอเชียไม่มีวัฒนธรรมการอ่านอันเป็นรากฐานแน่นหนามาแบบยุโรป แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการอ่านถือเป็นจุดร่วมของคนทั้งโลก ถ้าไม่อ่านหนังสือคนเอเชียจะแสวงหาความรู้จากอะไร อะไรคือจุดแข็งของคนเอเชีย

จุดแข็งของเราคือการอ่านตรงจากธรรมชาติ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเขา ซึ่งเขาไม่อ่านหนังสือเลย แต่เป็นผู้ชำนาญเรื่องธรรมชาติ ชำนาญไพรมาก เขาสามารถอ่านจากสายลม อ่านจากแสงแดด อ่านจากสายรุ้ง อ่านจากใบไม้พลิกใบ แล้วผมก็ไม่แปลกใจ เพราะผมเคยอยู่กับชนเผ่านี้มาตั้งแต่เล็กๆ เมื่ออายุ 15 ปีผมเคยตามล่ากวางกับมัน ผมหิวน้ำแทบตายแล้วก็บอกมันว่าข้างหน้ามีเสียงน้ำไหล น่าจะเป็นห้วย แต่มันบอกว่าน้ำที่เราได้ยินน่ะเป็นน้ำที่อยู่ในท้องของช้างที่เดินมาเป็นโขลง ซึ่งก็จริง หรือครั้งหนึ่งตอนออกไปล่าสัตว์ ผมเห็นตาอะไรสักอย่างแดงๆ มันบอกว่าอย่ายิง อยู่สูงขนาดนี้ไม่มีกวาง เก้ง หรือหมูป่าอะไรหรอก แล้วสีแดงก็ไม่ใช่แดงทับทิมเหมือนตาเก้งกวาง นี่มันตานกยูง ยิงไปก็เสียเปล่า นี่คือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากธรรมชาติ

ตอนผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ผมเป็นครูอยู่ที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรขึ้นไปบนดอย เขาก็ใช้เครื่องจับความชื้นในอากาศ จากนั้นก็บอกว่าดินแถวๆ นี้เหมาะในการปลูกพริก เพราะมันเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนตรงโน้นควรจะปลูกฝิ่นเพราะเป็นดินเหนียวสีดำ กว่าจะได้ข้อสรุปอย่างนี้เขาใช้คนประมาณ 15 คน ใช้เงินไปหลายหมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทั้งอิสราเอล ทั้งไทยเต็มไปหมด แต่เพื่อนผม ซึ่งเป็นชาวเขาก็ถามผมว่าเขามาทำอะไร ผมก็บอกว่าเจ้าหน้าที่มาวิจัยดิน ว่าดินตรงไหนเหมาะจะปลูกอะไร มันก็ไม่ว่าอะไร ก็เดินคุยกันไป เดินไปสักพักหนึ่งก็ใช้มีดพร้าที่เหน็บเอวอยู่ทิ่มลงไปในดินแล้วก็ดึงขึ้นมา ดินไม่ติดพร้าเลย มันบอกว่าแสดงว่าเป็นดินร่วนและซุย อย่างนี้ปลูกพริกปลูกงาปลูกข้าวดี จากนั้นก็เดินไปอีกสักสองร้อยก้าวแล้วใช้มีดทิ่มลงไปอีก มีดินติดปลายมีดขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มันบอกว่าตรงนี้ดินเหนียว ปลูกฝิ่นดี กัญชาดี ซึ่งมันไม่ต้องมารู้เลยว่าความชื้นในอากาศเท่าไหร่ ไม่ต้องหาค่าสัมพัทธ์ของน้ำของดิน แต่ธรรมชาติสอนให้มันเข้าใจเรื่องพวกนี้เอง เพราะนี่คือเส้นโลหิตของมัน ลองไม่รู้สิก็ต้องอดตาย

ที่คุณพูดถึงโลกาภิวัตน์หรือ Globalization มันก็คือกากเดนของฝรั่ง เป็นสติปัญญาที่ครอบคลุมไปทั่วโลก มันก็แค่คำโฆษณาชวนเชื่อของฝรั่งเท่านั้นเอง เพราะแต่ละที่แต่ละแห่งก็ต่างกัน อย่างอาหารการกินที่เรียกว่าฟาสต์ฟู้ดหรือแดกด่วนมันก็เหมาะกับฝรั่ง แต่เราต้องกินข้าว แล้วข้าวเราก็ต่างจากข้าวของญี่ปุ่นหรือข้าวของอิสราเอล ส่วนฝรั่งก็จะกินเมล็ดพืช กินขนมปัง เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ของมนุษย์ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมาจากการอ่านหนังสือเท่านั้น มันมาจากแหล่งอื่นๆ ได้ ยิ่งถ้าเป็นนิตยสารที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้... อย่างผมมาจากเชียงราย ทั้งเนื้อหาและรูปแบบของนิตยสารมันไม่ได้สัมพันธ์กับชีวิตผมเลยสักนิดเดียว มันไม่ได้ทำให้คนอ่านพบกับความสุข ความสว่าง หรือช่วยพัฒนาด้านจิตใจเลย แต่กลับเร้าให้คนอ่านต้องทะเยอทะยาน ต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องมีรูปแบบชีวิตแบบนี้ แล้วพฤติกรรมอยากมี อยากเป็นต่างๆ ของวัยรุ่นก็ล้วนมาจากสื่อที่เลวๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือทีวี แล้วแต่ไหนแต่ไรมาคนรุ่นโบราณเขาก็ไม่มีหนังสือ ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เขาก็สามารถอบรมลูกหลานให้เป็นคนดีมีศีลธรรมได้ สามารถสร้างบ้านแปงเมืองได้ สร้างมหาวิหาร สร้างพระราชวังได้ โดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือ ความรู้หลักๆ มาจาก หนึ่ง-เรียนจากพ่อแม่ ครูอาจารย์ สอง-รู้ได้จากการใช้เหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรอง สาม-รู้จากประสบการณ์ แต่ทุกวันนี้... อย่างเรานั่งคุยกัน เมื่อก่อนเขาต้องจดบันทึก แต่ตอนนี้ใช้เครื่องถ่มน้ำลายแทน จากนั้นก็พูดใส่เครื่อง แล้วก็ไปถอด คนทุกวันนี้จึงไม่รู้จักแล้วว่า สุ จิ ปุ ลิ คืออะไร เพาะมันเต็มไปด้วยเครื่องมืออะไรมากมาย

รู้มาว่าที่บ้านคุณมีหนังสือเป็นหมื่นสองหมื่นเล่ม แสดงว่าเป็นคนให้ความสำคัญกับการอ่านมากทีเดียว ปัจจุบันการอ่านมีความจำเป็นสำหรับคุณมากแค่ไหน

ผมเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ผมอยากรู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ผมพูดได้ถึง 6 ภาษา ดังนั้น ผมก็เอาของพวกนี้แหละมาเป็นเครื่องลับจินตนาการ ผมอยากรู้ว่าวิธีคิดแบบกรีกเป็นยังไง ผมอยากจะรู้ว่าคนอียิปต์คิดยังไง รากเหง้าและเมล็ดพันธุ์ของอียิปต์เมื่อหกพันปีที่แล้ว มหาอาณาจักรขนาดนั้น เมื่ออาณาจักรของมันล่มสลายไปแล้ว ผลึกเลือด โมเลกุล และนิวเคลียสของมันยังมีอะไรที่สืบสานทางวัฒนธรรมได้ เหล่านี้เป็นต้น สำหรับผม-การอ่านเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคม เพื่อจะออกมาเป็นรูปเขียน มันคือผังภูมิ มันเป็นท้องทุ่งแห่งจินตนาการ เราเดินเข้าไปเก็บดอกไม้มารวมเป็นช่อ เพื่อมันจะได้มีกลิ่นหอม ให้วิญญาณของเราชุบย้อมไปด้วยมวลดอกไม้ในท้องทุ่งแห่งมโนทัศน์ แล้วก็นำความหอมของดอกไม้มากลั่นเป็นน้ำหอม เพื่อเป็นเกสรแห่งจิตวิญาณของผู้คน บางปีผมใช้เวลาอ่านหนังสือ บางปีผมใช้เวลาบดย่อย บางปีนั้นผมใช้เวลารินไหล หมายความว่าคุณจะต้องดูดซับด้วย คุณต้องเคี้ยวเอื้องด้วย ต้องหลั่งรินด้วย ไม่ใช่ว่าคุณดูดซับอย่างเดียว แต่ไม่เคยหลั่งริน หรือคุณดูดซับ หลั่งริน แต่คุณไม่เคยเคี้ยวเอื้องความคิดให้มันตกผลึก มันก็ไม่สมบูรณ์ คุณเคยอ่านนิยายเรื่อง ‘จางวางหร่ำ’ ไหม ผลงานของ น.ม.ส. ตอนหนึ่งพ่อเขียนจดหมายไปถึงลูกบอกว่า ที่พ่อส่งเจ้าไปเรียนก็เหมือนส่งคนไปเรียนทำแกงจืด คนที่ทำแกงจืดต้องรู้ว่าก่อนทำต้องเตรียมน้ำ เตรียมต้นหอม เตรียมผักชี เตรียมเนื้อสัตว์ เพราะแกงจืดเขาทำอย่างนี้ จึงไม่ต้องตำน้ำพริก ไม่ต้องขูดมะพร้าว ไม่ต้องเตรียมเครื่องแกง เพราะไม่ใช่เรื่องของแกงจืด ฉะนั้น ชีวิตนี้ผมจึงไม่พะรุงพะรัง หนังสือบางเล่มผมจึงไม่แตะ อย่าว่าแต่แตะเลยมองก็ไม่มอง เพราะมันจะเป็นข้าศึกต่อสายตา (หัวเราะ) บางเรื่องก็ไม่รู้จะอ่านไปทำไม มันหนักอึ้งและเพียบแปล้ไปด้วยสิ่งอโคจรต่อจิตวิญญาณเราทั้งสิ้น

ผมเดินทางไปยุโรปและอเมริกาทุกปี เพื่อจะรู้ว่าโลกไปถึงไหน เนปาล ทิเบต ภูฐาน ผมก็ไปทุกปีเหมือนกัน เพื่อเรียนรู้ว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์นั้นเป็นยังไง อยู่ยังไง ชีวิตนี้ผมอ่านหนังสือมาเป็นหมื่นๆ เล่ม ผมสามารถจดจำพระคัมภีร์ต่างๆ ได้เป็นร้อยเล่ม ทั้งของไทยและต่างประเทศ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพราะใจผมต้องโปร่งก่อนถึงจะสามารถรับสารต่างๆ ได้ ปีหน้าผมได้รับเชิญไปสอนหนังสือที่เบิร์กเลย์ และยูซีแอลเอ สหรัฐอเมริกา โดยสอนที่ละสามเดือน หลังจากที่เขาเชิญเมื่อสี่ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งจะตอบตกลงปีนี้เอง เพราะการขึ้นเวทีสักทีผมต้องเลือก

ความจริงแล้ว ผมไปสอนที่ต่างประเทศมาเป็นร้อยๆ ครั้งแล้ว ทั้งยุโรป ทั้งอเมริกา คราวนี้เขาบอกว่าเขาสนใจเรื่องพุทธปรัชญานิกายเซน ปรัชญานิกายพุทธมหายาน ในมุมมองของนักวาดรูป ที่เพิ่งจะรับปากก็เพราะว่าเพิ่งมีเวลาว่าง ประกอบกับเมื่อได้ดูงานของผมเองแล้วก็รู้สึกว่าพอทนได้

มีช่างวาดรูปที่ไปเข้าคิวเพื่อที่จะไปที่นั่นเป็นสิบๆ ปี แต่เขาก็ไม่เอา เพราะฝีมือไม่ถึง แต่กรณีผมเขาบอกว่าเขาตามงานผมมาตลอด 15 ปี รู้ว่าทำอะไรอยู่ ก็เลยเชิญ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ ที่ต้องให้เขาหนังสือผ่านทางกระทรวงต่างประเทศหรือรัฐบาล แต่นี่เป็นการเชิญระหว่างผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กับผมโดยตรง

การรับเชิญไปสอนแบบนี้จะมีสองแบบคือ Visiting professor หรือที่เรียกว่าศาสตราจารย์รับเชิญ เชิญแบบเป็นเกียรติ อย่างนี้จะไม่ได้เงิน แต่ของผมไปนี่เขาเรียก Play visiting professor แบบนี้จะได้เงิน แต่ก็ไม่เยอะหรอก เงินเดือนแค่สองหมื่นเอง แต่พอมาคิดเป็นเงินไทยก็แปดแสนบาท ก็ไม่ถือว่าน้อยเท่าไหร่

ไปคราวนี้ผมคงไม่ต้องขนรูปไปด้วย เพราะไม่งั้นก็ต้องขนกลับมาอีก ผมเองมีบ้านที่โน่น ผมจะไปมือเปล่า ไปทำงานที่โน่นสักสามเดือน เพราะผมวัดความกว้างความยาวของพิพิธภัณฑ์ไว้หมดแล้ว สามเดือนผมก็สามารถคุมพื้นที่ได้หมด เหมือนงานแสดงที่นี่แหละ ตอนเขาเชิญผมถามว่าคุณเชิญผมกี่เดือน พื้นที่กี่ห้อง เขาบอกมีสามห้อง แล้วผมก็ใช้เวลาในการวาดรูปสามเดือนสำหรับสามห้อง สแตนฟอร์ดคือหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอเมริกา คุณธารินทร์ นิมมาเหมินทร์ ก็จบจากที่นี่ เพื่อนผม อาจารย์นคร พวงน้อย ก็จบจากทีนี่ แม้ผมจะไม่ได้จบที่นี่ แต่การได้รับเกียรติก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมรับไปสอนคือผมสนุกที่จะได้นำเสนอความคิด ได้ฟังคำถามหรือข้อเสนอแปลกๆ จากนักเรียนทั้งยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะเด็กอเมริกานั้นก็มีทั้งเด็กอมริกันเชื้อสายเกาหลี อิตาเลียน ไทย ฟิลิปปินส์ ที่เกิดและใช้ชีวิตในอเมริกา แล้วความที่ผมเป็นคนผิวเหลือง มันก็ยิ่งดูถูกขึ้นมาอีกสองเท่า ยิ่งกว่าไอ้มืดอีก เพราะอย่างน้อยไอ้มืดมันก็ยังเป็นคนในอเมริกา ฉะนั้น มันจึงลองภูมิผมทุกรูปแบบ กระทั่งผมพูดเสียงแปร่งหน่อยเดียวมันก็เยาะเย้ยถากถางแล้ว พูดยังไม่ชัดเลย ผมก็เลยบอกไปว่า พูดชัดกับความคิดมันคนละเรื่องกัน ผมอาจจะพูดแปร่ง แต่ความคิดผมชัด เพราะผมไม่ได้เกิดที่นี่ ผมมาจากเมืองไทย มาจากเอเชีย ถ้าเจอผู้สอนผิวสีนักเรียนมันจะพยายามถามให้จนตรอก ต้อนให้จนมุม แต่ผมไม่จนมุมหรอก เพราะผมเตรียมตัวไปดี

เรื่องสีผิว-มีครั้งหนึ่งที่ผมความประทับมากคือ ครั้งหนึ่งผมอยู่ซูดาน เดินทางไปกับนักรบกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์ให้คณะพวกผมที่ไปกับชนชั้นสูงของยุโรป เพื่อไปล่าสัตว์ในซาฟารี ในคณะมีผมเป็นคนผิวเหลืองคนเดียว ระหว่างนั้นก็มีนักรบอีกกลุ่มหนึ่งสวนทางมา พอเจอผมที่กำลังหยุดพักใต้ร่มเงาไม้ มันหยุดทั้งหมดเลย แล้วสองสามคนก็เดินเข้ามาคุยกับนักรบที่เป็นไกด์ให้คณะผม พอเขาไปแล้วผมจึงถามไกด์ว่าสักครู่เขาพูดว่าอะไร เขาบอกว่าพวกนั้นมันบอกว่า คนขาวก็เคยกินมาแล้ว คนดำก็เคยกินมาแล้ว แต่คนเหลืองยังไม่เคยกิน ผมก็เลยฝากไปบอกว่าผมแค่ผ่านมาดูสัตว์ อย่ากินเลย แค่ชิมได้ไหม (หัวเราะ) ฉะนั้น ไอ้การดูถูกเรื่องสีผิวอะไรอะไรต่างๆ ผมจึงไม่ตื่นเต้น

ทำไมคุณถึงไม่ค่อยแสดงงานในเมืองไทย หากจะนับครั้งก่อนจนถึงครั้งนี้น่าจะประมาณสามสิบกว่าปี

ผมแสดงงานทุกปี แต่ผมเลือกเวที แทนที่ผมจะแสดงเฉพาะในเมืองไทย คือผมสำคัญตนผิดว่าผมเป็น International Known ดังนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องแสดงเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ผมแสดงงานที่ยุโรปเกือบทุกประเทศ ทั้งเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี หรือเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาผมก็แสดงมาแล้วเกือบทั้งสิ้น ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาผมแสดงเดี่ยวไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง แต่ป่วยการจะมาบอกใคร เพราะไม่เห็นมีใครสนใจเลย ผมก็แสดงของผมคนเดียว ครั้งล่าสุดที่ผมแสดงที่เมืองไทยคือเดือนตุลาคม ปี 2519 แล้วผมก็สร้างบ้านได้ 35 หลัง ปีหนึ่งผมก็ทำหลังหนึ่ง จากนั้นผมก็ไปซื้อสมบัติบ้าบอมาใส่บ้าน ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาปัญญาญาณจากสิ่งที่ผู้อื่นสร้างทำมาเก็บรวบรวมไว้ เพื่อเป็นเหมือนเรือไว้สำหรับข้ามฟากนำเราไปสู่ฟากหนึ่ง เมื่อข้ามไปแล้วผมจะก็ไม่สนใจเรือแล้ว ใครจะข้ามก็ข้ามไป ผมวางไว้ให้แล้ว

คุณสนใจเรื่องการตอบรับของคนที่เข้ามาชมงานแสดงของคุณมากน้อยแค่ไหน

ผมไม่สนใจ ผมเป็นช่างวาดรูป ผมก็ทำหน้าที่ผมของไป ดูก็ดู ไม่ดูผมก็ไม่สนใจ ผมไม่กังวล มันไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะเหล่านี้มันคือธรรมชาติ ฉะนั้น ผมจึงไม่กระหายที่จะมีลูกศิษย์ ลูกศิษย์เท่านั้นแหละที่จะมาเสาะแสวงหาศาสดาเอง เหมือนเวลาไปสัมภาษณ์ออกรายการทีวีเขาถามว่าผมจะฝากอะไรกับผู้คนไหม ผมบอกไม่ฝาก ไม่มีอะไรจะฝาก เหมือนกัน เพราะผมได้จูงควายมาถึงหนองน้ำแล้ว ส่วนจะกินน้ำหรือไม่ก็เป็นเรื่องของควาย ไม่ใช่เรื่องของผม (หัวเราะ)

มีคนถามผมว่าตอนนี้มีเงินเก็บมากแค่ไหน ผมบอกไปว่าถ้าผมเอาเงินมากองทับๆ กัน ก็ไม่รู้ว่าระหว่างภูเขาทองกับเงินของผมอะไรจะสูงกว่ากัน (หัวเราะ) คือเรื่องพวกนี้มันเป็นเดรัจฉานกิจกรรม ไม่ต้องมาถาม สิ่งที่ต้องถามก็คือช่างวาดรูปคนนี้มันได้นำสาระเลวอะไรของมันไปสู่ผู้คน เพราะสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ คือรูป รูปคือภาษาสากล รูปเขียนผมไม่ใช่ภาษาไทย ฝรั่งก็ดูรู้ ไทยก็ดูรู้ เพราะผมไม่ได้เขียนรามเกียรติ ไม่ได้เขียนลายกนก ฉะนั้น ใครก็ดูรู้เรื่อง แล้วคนที่ซื้อรูปผมเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ก็เป็นฝรั่งทั้งนั้น นักวาดรูปเป็นคนที่อยู่ระหว่างคนที่ยังไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีคนเข้าใจมัน มันเกิดก่อนเวลา มีน้อยคนที่ขณะมีชีวิตอยู่จะประสบความสำเร็จ คือขายรูปได้ขณะมีชีวิตอยู่ ที่เห็นชัดๆ ก็มี ปิกัสโซ แต่ส่วนมากต้องตายไปแล้วหลายร้อยปีคนถึงจะขุดความคิดของเขาขึ้นมาได้ ในแง่นี้ผมก็นับว่าโชคดี

งานแสดงครั้งนี้ผมไม่ขายรูป เพราะไม่อยากยุ่งยากเรื่องเปอร์เซ็นต์เรื่องค้าขาย เขาเชิญมาแสดงก็นับว่าเป็นเกียรติแล้ว อย่างหนึ่งผมไม่ต้องการกำไรเงินทองอะไร ผมพอแล้ว อยากให้คนดูได้รับสุขุมรส แล้วเมื่อไม่มีการซื้อขายมันจะหมดจดกันทั้งสองฝ่าย แต่เพื่อให้ทางผู้จัดเขามีรายได้หมุนเวียนบ้าง เขาจึงได้เก็บเงินคนละยี่สิบบาทในการเข้ามาดู แล้วเขาขายเสื้อยืดได้เป็นพันๆ ตัว คนมาดูจากเปิดมาสองเดือนก็หมื่นกว่าคนแล้ว จากปกติงานอื่นๆ มีคนดูแค่พันคน ฉะนั้น การที่คนมาดูเยอะขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์แล้วสำหรับแผ่นดินที่ไม่มีใครสนใจศิลปะแห่งนี้

ทำไมคุณจึงชอบบอกกับผู้คนว่าเป็นแค่ช่างวาดรูปคนหนึ่งเท่านั้น

ผมเป็นคนที่เคารพในบทบาทและอาชีพของผู้คน ถ้าผมบอกว่าผมเป็นศิลปิน มันเหมือนยกย่องฐานะของตนเองให้โอ่อ่าวิลิศสะมาหรา เตชะหรูวิจิตรเกินไป อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยออกเทป ไม่มีสักชุด (ยิ้ม) ผมเป็นช่างวาดรูป ผมอยากจะอ่อนน้อมถ่อมตัวว่าผมเป็นแค่นักวาดรูปเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ศิลปิน แล้วคำว่าศิลปินมันดูสับสน นักแสดงก็เรียกศิลปิน นักร้องก็ศิลปิน ขณะที่เมืองนอกคำว่าอาร์ติสต์นั้น เขาไม่ได้เรียกตัวเอง แต่คนอื่นยกย่อง เพราะเขายิ่งใหญ่พอที่จะเป็นแบบนั้น ต่างจากบ้านเรา ออกเทปก็เป็นศิลปิน แสดงหนัง แสดงละครก็เป็นศิลปิน ผมกลัว ผมไม่เป็นหรอกศิลปิน ผมเป็นแค่นักวาดรูป นี่คืออาชีพผม จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็แค่สิ่งสมมุติ แท้จริงแล้ว ไม่มีคุณ ไม่มีผม ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าหากยึดตามหลักพุทธศาสนา ทุกอย่างเกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป ไอ้พวกนักต่างๆ ที่เราๆ เรียกกันก็คือสิ่งสมมุติ มันคือสมมุติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ

คุณพูดถึงเรื่องทำนองปรมัตถ์สัจจะพวกนี้ค่อนข้างบ่อย หากยึดตามหลักพุทธศาสนา คุณคิดว่าการเป็นช่างวาดรูปหรือคนที่ทำงานศิลปะสามารถหลุดพ้นได้ไหม

อยู่ที่เป้าหมายของแต่ละคน อยู่ที่มนสิการหรือความตั้งใจของผู้คน นักมวยก็ไปสู่ความหลุดพ้นได้ โสเภณีก็ไปสู่ความหลุดพ้นได้ หัวหน้าโจรอย่างองคุลีมาลยังสามารถไปสู่ความหลุดพ้นได้ มันขึ้นอยู่กับบุรพกรรม สติปัญญา และภูมิธรรมของแต่ละคน บางคนเขาหลุดพ้นขณะมีชีวิตอยู่ก็มี แต่เขาไม่ได้มาอวดอุตริมนุสสธรรมเท่านั้นเอง เพราะเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธคือความหลุดพ้น ไม่ใช่การต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป สำหรับผม-ขอแค่ได้วาดรูปอย่างที่ผมอยากวาด ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังของผมเงียบๆ แล้วผมอายุ 65 แล้ว ผมต้องอยู่คนเดียวแล้ว เหมือนนอแรด เหมือนกระทิงโทน ต้องผละออกจากฝูง แต่ก็อย่างว่า... อายุขนาดนี้แล้ว เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอก เพื่อนผมอายุ 65 ยังไม่กล้าซื้อกล้วยทั้งหวีเลย เพราะกลัวว่าจะอยู่ไม่ทันกินกล้วยหมดทั้งหวี อย่างผมเอง พอเข้าร้านอาหารก็สั่งของหวานมากินก่อนเลย เพราะเดี๋ยวจะอยู่ไม่ทัน (หัวเราะ)

เป็นไปได้ไหมว่าคุณจะใช้ชีวิตเยี่ยงนักบวช

ผมไม่ยินดีใดๆ ในรูปแบบ ผมนิยมยินดีในเนื้อหา ผมไม่เชื่อในรูปแบบ... การโกนผม นุ่งห่มเหลือง แล้วเข้าไปอยู่ร่วมเป็นหมู่ปริโภชน์ มีศีล มีอะไรมาร้อยรัดพันธนาการ ถ้าจะเป็นพระ ผมก็จะเป็นพระแบบเซน มุ่งไปที่ความรู้แจ้งทางปัญญามากกว่าพิธีกรรม ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผมไม่เล่นการพนัน ไม่เคยดื่ม ไม่เคยสูบ ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ผมมุ่งเดินไปสู่มหาวิหารมาตลอด ตอนนี้เป็นขากลับสู่หลุมฝังศพ ฉะนั้น ผมจึงไม่ต้องมุ่งไปสู่มหาวิหารอีกต่อไป แต่ผมเดินทางกลับมาทุกมุมเลี้ยวที่มีเครื่องบูชาริมบาทวิถี ซึ่งมันให้ความพิศวงแก่ผมทุกขณะจิต ฉะนั้น ผมจึงไม่มีปลายทางอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมซ้อมตายอยู่เรื่อยๆ ที่บ้านผมก็สร้างวัดเอาไว้ สร้างที่เผาผีเอาไว้ ไม่ได้ทำใหญ่โตอะไรหรอก แต่อยากทำให้งดงามหน่อย ไม่อยากให้เหมือนอินเดียนแดงที่เอาผ้ามาคลุมๆ ไว้ เดี๋ยวหมามันมาแทะ แต่ผมจะทำเป็นแท่น มีที่ใส่ฟืน ผมจะไม่ไปอยู่ในโลง พอตายปุ๊บผมก็จะรีบเผา กลัวมันเหม็น ผมซ้อมเวลาไว้หมดแล้ว ไม่น่าจะเกินชั่วโมงหนึ่ง แล้วผมขออนุญาตสมเด็จพระเทพฯ เอาไว้แล้วว่าขอลาตาย ไม่ขอพระราชทานเพลิงศพ เพื่อนผมที่เป็นคนจัดการเรื่องงานศพก็ขายตั๋วไปแล้ว 1,500 ใบสำหรับการดูพิธีเผาศพ แต่ก็คงไม่มีอะไรหวือหวา เรียบๆ แต่อาจจะมีเทปที่ผมเล่าเรื่องอะไรตลกๆ มาเปิดในงาน เพราะผมไม่อยากให้คนมาโศกเศร้าในงาน แต่อยากให้คนตบมือตบตีน ชีวิตมันก็แค่นี้แหละ คุณจะเอาอะไรนักหนา

ตอนผมอายุ 60 ปี เขาก็จัดให้ผมที่นี่ (หอศิลปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ) ผมขอให้ทุกฝ่ายมาที่นี่ ทั้งเพาะช่าง ศิลปากร ผมเป็นกรรมการแบงก์ชาติ แบงก์กรุงเทพ แบงก์ไทยพาณิชย์ แบงก์กสิกร ก็ขอให้ทุกคนมารวมกันที่นี่หมด จากนั้นผมก็ให้เพื่อนผม 5-6 คนพูดถึงผม โดยกำชับว่า มึงอย่าพูดถึงเรื่องดีของกูนะ มึงต้องพูดเรื่องเลวๆ หรือเรื่องไหนที่อยากด่าก็ด่าซะ โอ้โห มันกระซวกกันซะสนุกปาก มันเป็นบ้าเลย ทุกคนตบมือตบตีน เพราะนานๆ จะได้ด่าผมสักที ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าด่า เพราะผมชำนาญมากด้านการต่อสู้ด้วยปากเปล่า (หัวเราะ)

ทำไมคุณถึงเลือกเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาและสุนทรียศาสตร์

ผมอยากเป็นนักคิด ผมคิดว่าการวาดรูปมันเป็นแค่ช่างฝีมือ ผมเรียนที่เพาะช่างสามปี เรียนปีหนึ่งถึงปีสามที่ศิลปากรผมก็มาซ้ำซากอยู่กับการฝึกฝีมือแบบฝรั่ง พอปีสี่ปีห้าผมเลือกเรียนด้านจิตกรรรม เพราะผมถนัดที่สุด พอไปเรียนที่ต่างประเทศผมใช้เวลาเพียงสามเดือนเขาก็ปล่อยให้ผมขึ้นไปเรียนชั้นปริญญาโท ที่โน่นเขาทดสอบว่าผมรู้จักกายภาควิทยาไหม รู้จักประวัติศาสตร์ไหม รู้จักการวิจารณ์ไหม รู้จักแสงและเงาไหม รู้จักจิตวิทยาเบื้องต้นไหม เขาเห็นว่าผมผ่านขั้นตอนการเรียนตามแบบสากลมาแล้วเขาก็ปล่อย ดังนั้น เมื่อผมผ่านอะไรพวกนี้มาหมดแล้วผมจึงอยากเป็นนักคิด คุณจะเห็นว่างานผมไม่ใช่การเขียนต้นไม้ เขียนดอกไม้ หรือเขียนทิวทัศน์ การเขียนสิ่งพวกนี้คุณไม่ต้องคิด แต่ในงานของผมผมต้องการใช้ความคิด ผมต้องการใช้จินตนาการ ฉะนั้น ผมจึงเลือกเรียนปรัชญา แล้วเป็นอภิปรัชญาด้วย เพื่อให้มันลึกซึ้ง ผมเรียนทั้งปรัชญาตะวันตก ทั้งปรัชญาตะวันออก ผมอยากรู้รากความคิดของแต่ฝ่ายเป็นอย่างไร จากนั้นผมก็รีดเน้นความคิดเหล่านี้ออกมาเป็นภาพเขียนอย่างที่คุณเห็น การเรียนมันให้ความรู้ ส่วนการทำงานมันให้ความรู้สึก จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

ความตั้งใจของผมมีสองอย่าง หนึ่ง-ผมอยากเป็นนักวาดรูป ผมจึงฝึกวาดรูป สอง-ผมอยากเป็นนักคิด ผมจึงเรียนด้านปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ฉะนั้น เมื่อผมมีทั้งสองอย่างแล้วผมจึงอยากสำแดงฝีมือและความคิดให้คนได้ประจักษ์ ความที่ผมมีความทะเยอะทะยานไม่มีขอบเขตจำกัดผมจึงแสดงให้โลกนี้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่แค่ตำบลนางแล เชียงรายหรือประเทศไทย มันเล็กไป

บ้านผมที่เชียงราย ที่ผมทำขึ้นมาผมอยากให้มันเป็นศูนย์กลางของโลก ผมอาจไม่มีความจำเป็นต้องไปยุโรปหรืออเมริกาด้วยซ้ำ เพราะคนพวกนี้อยากมาหาผมทุกปี แต่ที่ผมเดินทางไปที่โน่นที่นี่ก็เพราะอยากจะไปแลกเปลี่ยนความคิดความอ่านกับผู้คนบ้าง

ในอินเดียจะมีอาร์ติสต์ผู้ยิ่งใหญ่อยู่สองคน เป็นนักซีต้า คนหนึ่งคือระวี ชังก้า ได้รางวัลแกรนด์ไพรซ์ จากฟูโกอากะ เหมือนกับที่ผมได้ ระวีเป็นนักซีตาที่ยอมเดินทางออกนอกประเทศ เขาสอนเดอะบีเทิลส์ เขาไปเล่นที่อเมริกา ยุโรป เอเชีย ที่เมืองไทยก็เคยมาเล่นถึงสองครั้ง แต่มีเพื่อนเขาคนหนึ่งชื่อมิรายัด ข่าน เขาไม่เคยออกนอกประเทศเลย เขาบอกว่าซีต้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของยิ่งใหญ่ คนที่จะมาฟังต้องมาฟังในอินเดีย คนที่จะมาสัมผัสต้องมาหาเขาที่บ้าน

บางครั้งผมไปอเมริกา บางครั้งไปยุโรป เพราะผมต้องการประกาศสัจธรรมของผมว่าผมรู้เรื่องอะไรบ้าง ขณะเดียวกันผมก็ชอบความอหังการ์ของปิกัสโซ ช่วงที่เขาเป็นหนุ่มใหญ่ อายุสักสี่สิบห้า มีชื่อเสียงขจรขจาย มหาวิทยาลัยที่โอไฮโอในอเมริกามาจ้างเขาไปทำประติมากรรม ปิกัสโซย้อนถามว่าทำที่ไหนนะ เมื่ออีกฝ่ายบอกว่าที่อเมริกา ปิกัสโซตอบไปว่าเอาอเมริกามานี่สิ แล้วจะทำให้ แหม ผมอยากจะพูดอย่างนั้นบ้าง กูไม่ไปหรอกสแตนฟอร์ด มึงเอาสแตนฟอร์ดมานี่สิ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้พูดอย่างนั้นสักที (หัวเราะ) หรืออย่างออสการ์ ไวด์ ตอนที่เขาไปอเมริกา มีคนถามเขาว่าคุณมีอะไรจะสำแดงไหม ออสการ์ ไวด์ตอบว่า ความเป็นอัจฉริยะของผมไงที่จะสำแดง ซึ่งผมไม่มีโอกาสจะพูดสักที เพราะไม่มีใครถาม แต่แม้มีคนถามก็คงตอบแบบนั้นไม่ได้ เพราะผมไม่มีอะไรเลยสักอย่าง (หัวเราะ)

ช่วงที่คุณเป็นช่างวาดรูปที่ชำนาญ แต่ยังไม่มีความคิดกระจ่างชัด กับตอนนี้ที่มีพร้อมทั้งฝีมือและความคิด เทียบตอนนั้นกับตอนนี้เห็นความต่างในงานมากไหม

เมื่ออายุ 19 ปี จอห์น สไตน์เบ็ค เขียนนวนิยายเรื่องตอร์ติญาแฟลต เขาได้รางวัลพูลิเซอร์ ไพรซ์ พออายุ 60 ปี เขาเขียนเรื่อง ผลพวงแห่งความคับแค้น และได้รางวัลโนเบล คนก็ถามเขาแบบนี้แหละ สไตน์เบ็คตอบว่าตอนอายุ 19 ผมไม่มีความลุ่มลึก ไม่มีมิติ เพราะยังเพาะบ่มไม่พอ แต่ผมก็มีความสดและความเฉียบขาด ครั้นผมอายุ 60 ผมอาจจะมีความลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น แต่ผมก็เชื่องช้าลง ไม่มีความเฉียบขาดและแหลมคมเหมือนสมัยหนุ่มๆ ผมเองก็เช่นกัน, ไม่ใช่ว่าเหมือนสไตน์เบ็ค แต่เหมือนมนุษย์ทุกคน ตอนที่ผมฝึกฝีมือนั้น ผมก็สำแดงฝีมือ ตอนที่ผมฝึกความคิด ผมก็สำแดงความคิด

บางครั้ง-ของบางอย่างงามด้วยฝีมือ บางครั้งก็งามด้วยเนื้อหา เราปฏิเสธไม่ได้ เหมือนดอกไม้ บางชนิดงดงามด้วยก้านกิ่ง แต่ไม่มีกลิ่น แต่บางชนิดมีกลิ่นหอม แต่ปราศจากสีสัน แต่ดอกไม้บางชนิดมีทั้งสีอันงดงามมีทั้งกลิ่นอันหอมหวน แต่ ณ ปัจจุบันผมอยากทำให้ดอกไม้ของผมมีทั้งกลิ่นหอม มีทั้งสีสันสวยงาม อยากให้บานอยู่ในอ้อมใจของมนุษยชาติของตลอดไป ฉะนั้น ผมจึงต้องปรุงแต่งด้วยฝีมือและความคิด เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมาย ซึ่งก็คือจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ณ วันนี้ผมคิดว่าผมได้ทำสำเร็จแล้วในบางด้าน ไม่ใช่ทั้งหมด เหมือนดอกบัวที่มีกลีบเป็นร้อยจึงจะรวมเป็นดอกเดียว ผมก็คงเหมือนหนึ่งกลีบในนั้น เหมือนสายซีต้าที่มีตั้งยี่สิบสาย แต่เล่นด้วยท่วงทำนองเดียวกัน ผมก็เหมือนมนุษยชาตินั้นแหละ คือฝึกอะไรมาก็ชำนาญเรื่องนั้น

ทุกวันนี้ ถวัลย์ ดัชนี ใช้ชีวิตยังไง

เหมือนคนทั่วไป แต่ที่ไม่เหมือนก็ตรงที่ผมไม่มีอบายมุข ฉะนั้น ผมจึงไม่มีเพื่อน คนอื่นอาจจะกินเหล้ากัน แต่ผมไม่ ผมจึงไม่ต้องดูหนัง ไม่ฟังเพลง เพราะในชีวิตที่ผ่านมาผมฟัง ผมดูมามากมายแล้ว ปกติที่อยู่กรุงเทพฯ ผมตื่นขึ้นมาก็ขว้างมีดขว้างขวาน เพราะต้องการความเร็วในการเขียนรูป ถ้าอยู่เชียงรายก็จะยิงธนู ขว้างหอก เพราะมีพื้นที่เยอะ สายๆ ผมก็ไปเอาปิ่นโตที่คนเอามาห้อยไว้ให้ จากนั้นก็วาดรูป หรือไม่ก็อ่านหนังสือ ตีกลองบ้าง เดินไปมา คุยกับต้นไม้ใบหญ้า ดูนก พอช่วงกลางวันผมก็จะพิจารณาดูว่ามีใครที่ไหนเดินทางมาเยี่ยม โดยแบ่งเป็นว่าพวกยุโรปมีใครบ้าง อเมริกามีใครบ้าง ออสเตรเลียมีใครบ้าง แอฟริกามีใครบ้างที่เขานัดหมายไว้ ถ้าเห็นสมควรก็จะออกไปแสดงมุทิตาจิต แต่ถ้าไม่เห็นสมควรก็จะให้ภัณฑารักษ์พาเขาเดินดูอะไรต่างๆ ไม่ต้องถึงผมก็ได้ ผมก็เขียนรูปของผมไป โดยไม่สนใจว่ากลางวันหรือกลางคืน เขียนกระทั่งเบื่อหน่าย จากนั้นจึงจะเรียกคนขับรถให้ขับไปไหนก็ได้โดยไม่มีเป้าหมาย ผมก็ดูนั่นดูนี่ไปเรื่อย สัก 2-3 ชั่วโมงก็กลับมา จากนั้นก็มานั่งอ่านจดหมายที่ส่งเข้ามาเป็นฟ่อนหญ้า ผมก็จะดูความเคลื่อนไหวของศิลปะวิทยาการจากหนังสือที่ผมรับ บางเล่มก็มาจากฝรั่งเศส บางเล่มก็มาจากเยอรมัน บางเล่มก็มาจากอิตาลี บางเล่มก็มาจากอเมริกา นานๆ ทีผมก็จะออกไปสนทนากับชาวบ้าน

ทุก 6 เดือน ผมจะไปต่างประเทศ 3 เดือนผมอยู่เชียงราย อีก 3 เดือนอยู่กรุงเทพฯ ที่ทำแบบนี้เพราะผมเองก็ยังเกาะเกี่ยวอยู่กับกามคุณ ผมยังอยากดูหนังดีๆ ที่มันไม่มีมาฉายในประเทศไทย อยากอ่านหนังสือดีๆ ที่ไม่มีขายในประเทศไทย อยากเห็นสถาปัตยกรรมที่แปลกๆ อยากเห็นการแสดงออกเดี่ยวๆ ของจิตรกร อยากเห็นงานของประติมากร การดูละครที่ดีๆ บางครั้งก็อยากไปดูซีต้าที่อินเดีย บางทีก็อยากไปฟังลีลที่เมืองซอกบาที่กรีซ บางทีก็ไปฟังซามิเซงที่ญี่ปุ่น บางครั้งก็ไปฟังขิมของจีน บางทีก็ไปฟังเสียงเคาะที่เป็นเพอร์คัสชั่นที่แอฟริกา บางทีก็ไปฟังเขาเคาะทองเหลืองที่เนปาล ที่เรียกว่าระนาดทองเหลือง กลับมาเมืองไทย บางครั้งผมก็จัดกิจกรรมพวกนี้ ดีดพิณเปี๊ยะบ้าง ตีกลองสะบัดชัยบ้าง ตีกลองพูจาบ้าง กลองคูโด้ของญี่ปุ่นบ้าง เป่าขลุ่ยของญี่ปุ่น หรืออาจจะเอาเครื่องดนตรีแปลกๆ มาเล่น ผมเป็นนักกีตาร์ ผมก็จะเล่นพิณเล่นอะไรไป คือผมเสาะแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อเอามาทำของที่ไม่มีระโยชน์ นั่นคือการวาดรูป เพราะผมไม่ใช่สถาปนิก ไม่ใช่มัณฑนากร รูปเขียนไม่ใช่มีไว้เพื่อประโยชน์ใช้สอย แขวนไว้ดูเท่านั้นเอง คนทั้งโลกอาจจะปลูกข้าว ปลูกมันฝรั่ง แต่ผมขอที่สักไร่เดียวสำหรับปลูกดอกไม้ เพราะดอกไม้มันจำเป็นต่อจิตวิญญาณ ดอกไม้จำเป็นต่อลมหายใจของมนุษยชาติ บางทีดอกไม้สำคัญยิ่งกว่าข้าวด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเป็นผู้ปลูกดอกไม้เพื่อมนุษยชาติ เพื่อให้มันบานส่งกลิ่นหอมอยู่ในใจของผู้คน

ถ้าถามถึงบั้นปลายชีวิต ผมคิดว่าผมพอแล้ว ต่อจากนี้ผมก็คงกลับบ้าน หยุดกิจกรรมทุกอย่าง แล้วก็ปิดประเทศ ไม่ให้คน สัตว์ สิ่งของเข้าใกล้ อย่างปิกัสโซ ช่วงอายุ 65 ปี เขาก็ไม่ให้คน สัตว์ สิ่งของพบ ไม่ให้สัมภาษณ์ ใช้ชีวิตอยู่ในปราสาท เขียนรูปตลอดเวลา ผมก็กะว่าจะทำแบบนั้น จะถอนเงินที่ฝากไว้ตามแบงก์ทั่วโลกมาใส่ตุ่มใส่หีบเอาไว้ที่บ้าน (หัวเราะ)

ที่มา : http://www.marsmag.net/s1000_obj/front_page/page/131.html?content_id=1239


วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คู่มือศึกษาประวัติศาสตร์โลก ฉบับไม่งี่เง่า (The No-Nonsense Guide to World History)


ผู้แต่ง : CHRIS BRAZIER
แปล : ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล
ราคา 165 บาท

ตั้งแต่รู้จักเกมส์ Civilization (เลิกเล่นไปนานแล้ว กินเวลามาก)
ก็เริ่มสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ
ใครจะว่าแก่ก็ยอม

เริ่มอยากรู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน
ประวัติศาสตร์แต่ละที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
มนุษย์มีจุดกำเนิดเดียวกันใช่หรือไม่ ?
แล้วเส้นทางการโยกย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นได้อย่างไร?
แล้วมนุษย์เรามาแยกจากกันตอนไหน?
เส้นแบ่งประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ทำไมประเทศแต่ละประเทศจึงพัฒนาได้เร็วช้าต่างกัน?
นี่เป็นคำถามในสมองของผมเสมอมา
ทำไมประเทศซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์พร้อมอย่างประเทศไทย
ภัยธรรมชาติก็น้อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย
จึงพัฒนาช้ากว่าประเทศที่มีแต่ภูเขาและเกาะอย่างประเทศญี่ปุ่น
ส่วนประเทศที่มีแต่ภูเขาและเกาะเช่นกันอย่างฟิลิปปินส์ทำไมจึงทำไม่ได้เช่นญี่ปุ่น
เป็นเพราะอะไร?

ผมสังเกตประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา
ล้วนแล้วแต่เกาะตัวอยู่ตามแนวเส้นศูนย์สูตรทั้งสิ้น
ประเทศที่พัฒนาแล้วมักอยู่ในแนวเดียวกัน
หรือสภาพอากาศจะมีส่วนทำให้คนเราพัฒนาได้ต่างกัน
ประเทศเราซึ่งมีพร้อมทุกสิ่งทำให้เราขี้เกียจใช่หรือไม่?

ความอุดมสมบูรณ์ทำให้เราไม่จำเป็นต้องดิ้นรน หาวิธีเพาะปลูก วิธีถนอมอาหาร วิธีเลี้ยงสัตว์
การไม่มีภัยธรรมชาติ
ทำให้เราไม่ต้องดิ้นรนหาวิธีสร้างสิ่งก่อสร้างให้แข็งแรงเพื่อกันภัยธรรมชาติ
ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆเนื่องจากเราก็สามารถอยู่ได้โดยไม่อดตาย
ไม่ต้องออกเรือเดินทางไปแสวงหาแผ่นดินใหม่
เนื่องจากที่เรามีอยู่นั้นมันดีพร้อมอยู่แล้ว หรือไม่?

ความสมบูรณ์พร้อมไม่ต้องดิ้นรนหรือไม่ ? ที่ทำให้เราหยุดอยู่กับที่

นี่เป็นความสงสัยส่วนตัวของผม


ประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้ เรียนรู้ส่วนใหญ่ มักมีแต่เรื่องของสงคราม
ใครรบกับใคร ใครแพ้ใครชนะอะไรประมาณนั้น
แต่จริงๆแล้วเรื่องราวในประวัติศาสตร์มีมากกว่านั้น
ทั้งเรื่องของความเชื่อ
การทำมาหากิน

ผู้เขียนเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยก่อนยุคหินเลย

เมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน คศ.
มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่ว่าพระราชา หรือยาจก นักฟิสิกส์อะตอม
ล้วนมีต้นกำเนิดจากหญิงแอฟริกันคนเดียวกัน
ก่อนจะมาเข่นฆ่ากันเองอย่างทุกวันนี้

เมื่อก่อนเพศแม่เป็นผู้กุมความลับในการให้กำเนิด
ทำให้เทพเจ้าในสมัยก่อนเป็นเพศหญิงทั้งสิ้น
เพิ่งมาเปลี่ยนในตอนหลังนี่เองเมื่อเพศชายรู้ว่า
ตัวเองก็มีส่วนในการให้กำเนิดด้วย

ความคิดความเชื่อและมายาคติผิดๆทั้งหลายที่พวกฝรั่งมันยัดเยียดให้เราเชื่อ
อย่างเรื่องแอฟริกันเป็นดินแดนป่าเถื่อนต้องการความช่วยเหลือปกครองจากพวกผิวขาวนั่น
ก็เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ของพวกล่าอาณานิคม อยากไ้ด้ของเขามาเป็นของตัว
อารยธรรมสูงส่งในแอฟริกามีอยู่แล้ว

ตัวอย่างคลาสสิคของกรณีนี้คือ พระราชวังโชนาแห่งเกรทซิมบับเวในศตวรรษที่14
นักสำรวจผิวขาวกลุ่มแรกไม่ยอมเชื่อว่ามันคือฝีมือของคนแอฟริกัน
กลับบอกว่าคือขุมทรัพย์ของกษัตริย์โซโลมอน
บ้างก็ว่าราชินีแห่งชีบาประทับที่นี่
แนวคิดอันคับแคบและน่ารังเกียจของคนผิวขาวเช่นนี้
คงเป็นต้นกำเนิดความคิดแบบเหยียดผิวในเวลาต่อมา




รูปร่างและสีผิวคนเราแตกต่างกันเพราะสภาพอากาศ
พวกผิวขาวไม่ได้เลอเลิศไปกว่าเราแต่อย่างใด
อ่านประวัติศาสตร์ดูกลับยิ่งน่ารังเกียจเพราะเป็นผู้ริเริ่มการค้าทาส
เลวร้ายที่สุดของความเป็นมนุษย์ด้วยกันแล้ว
นั่นหมายถึงว่ามองทาสไม่ใช่มนุษย์

หรือแม้แต่คนชั่วร้ายอย่างฮิตเลอร์ก็เกิดมาจาก
การเอาเปรียบอย่างร้ายกาจของสังคมโลกนี่เอง

เรื่องเล่าจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
เกี่ยวร้อยโยงใยพันกันอย่างน่าประหลาด
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและน่าจดจำไว้เป็นบทเรียน

หนังสือเล่มนี้ดีมากอยากแนะนำให้อ่าน
อ่านสนุกมากวางแทบไม่ลงทีเดียว ไม่วิชาการจ๋าอย่างที่คิด
ผู้เขียนใจกว้างมากในการเขียนอธิบายประวัติศาสตร์
ไม่จมอยู่กับมายาคติเก่าๆ
แต่เปิดมุมมองอื่นๆให้เห็นด้วยในแต่ละกรณี
อ่านแล้วได้คิดตาม
จินตนาการตาม
เกิดเป็นข้อถกเถียงในใจอย่างแสนสนุก

ผมชอบจินตนาการโลกค่อยๆวิวัฒนาการกันไปเื่รื่อยๆอย่างรวดเร็ว
โดยมีตัวเองมองโลกจากบนอวกาศ
โลกก็หมุนไปเรื่อยๆ
เมื่อมีอารยธรรมเกิดขึ้นก็มีแสงไฟเกิดขึ้น
สว่างตรงนู้นตรงนี้บ้าง
พร้อมกันบ้าง หลังกันบ้าง
บ้างก็เกิดสว่างไสว
บ้างโรยแสงดับวูบไป
อยากดูตรงไหนก็ซูมเข้าไปเป็นที่ๆ

หนังสือเล่มนี้ช่วยเติมเต็มจินตนาการของผมครับ
ชอบมาก อยากให้อ่านกัน




Shawshank Redemption

หนึ่งในฉากที่ผมชอบที่สุด
แอนดี้เปิดโมสาร์ทให้เพื่อนนักโทษในคุกฟัง
กักขังตัวได้
แต่หัวใจล้วนล่องลอยออกจากกำแพงคุก
ไปตามเสียงเพลง

"Le nozze di Figaro"

คือชื่อของเพลงๆนั้น :)


วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ภู-มี-ศาสตร์


มาแนะนำหนังสือให้คอเดียวกันอ่านครับ
"ภู มี ศาสตร์"
โดยบินหลา สันกาลาคีรี

ทุกที่ล้วนมีตำนาน ล้วนมีเรื่องเล่าให้กล่าวขวัญถึง
หนังสือเล่มนี้หยิบเอาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์
และตำนานมาเล่าผ่านภูเขาแต่ละลูกได้อย่างน่าติดตาม

ภูเขาแต่ละลูกล้วนมีความงาม มีมนต์เสน่ห์ไม่แตกต่างไปจากท้องทะเล 
แต่ละเรื่องที่นำมาเล่าล้วนน่าสนใจ

างเรื่องให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์

"เขา"ชื่อ"พระยาศรี" 
ประวัติศาสตร์การสู้รบทางการเมือง
ตั้งแต่เมืองหลวงจรดดงพระยาเย็น
ความแตกแยกทางการเมือง
ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นแต่มีมานานแล้ว 
หรือเราไม่เคยจดจำ??


างเรื่องให้ปูมหลัง
แห่งเรื่องราวชนชาติที่รบกันในปัจจุบัน
เราอาจไม่เคยรู้ว่าเขาทำเช่นนั้นไปทำไม

"ภูเขามะกอกเทศ" ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน



"ตากูร์ กาฮร์" เทือกเขาชายแดนแสนกันดารในอัฟกานิสถาน
ที่มหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาระเบียยอมทิ้งความสบายจากในเมืองเข้ามาอยู่
เอ่ยชื่อมาคงรู้จักกันดี เขาชื่อ "บิน ลาเดน"
เขาทำเช่นนั้นทำไม
ไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน
ทำไมอเมริกาหาไม่เจอ


างเรื่องให้แรงบันดาลใจ
"จิ่งกังซาน"
ภูเขาที่มั่นของประธานเหมาเจ๋อตุง 
ก่อนถอยร่นหนีกองทัพเกือบล้านคนของเจียงไคเช็ค
เป็การถอยที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน
และสร้างแรงบันดาลใจให้กองทัพประชาชนออกมาสู้

การยกพลข้าม "เทือกเขาแอลป์" ของฮานนิบาล
หัวใจห้าวหาญของชาวคาร์เทจ
ทำให้ชาวโรมันตะลึง
ด้วยไม่คิดว่าจะมีใครหาญกล้า
ยกพลข้ามเมือกเขาแอลป์มาได้

และอีกหลายๆภู

"ภูมิศาสตร์" สอนให้เรารู้จักโลกอันกว้างไกล เรามิได้อยู่เพียงแค่บ้านและที่ทำงาน แต่ยังมีที่อื่นๆอีก

"ประวัติศาสตร์" สอนให้เรารู้จักตัวตน ของเราและผู้อื่น

"ตำนาน" ให้แรงบันดาลใจ

"หนังสือ" ให้จินตนาการ

ผมเพิ่งอ่านจบเล่มเมื่อตะกี้



คิดว่าได้มาหลายอย่างเชียวละครับ :)



"ความทรงจำที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก"


วันนี้มานั่งสแกนฟิล์มที่ที่ทำงานไปพลางๆ

ระหว่างที่นั่งทำงานไปด้วย

นึกขึ้นได้ว่าเคยคุยกันเรื่อง 

"ความทรงจำที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก" 
(อันนี้เป็นคำของน้าอ้อน)

ที่เคยคุยกันเล่นๆที่ร้านเหล้ากะน้าอ้อนและจ่าดำ


เรื่องมันมาจาก

"เฮ้ย ได้ดูรูปที่ป๋ามะยม ปริ้นมามั่งป่าว"

"ได้อารมณดีเนอะ"

"ดีกว่าดูในคอม"

บลาๆๆๆ

เดี๋ยวนี้คนปริ๊นท์รูป อัดรูปกันน้อยลง
หรือแทบจะไม่ได้อัดรูปมาชื่นชมกันเลย
ส่วนใหญ่ถ่ายรูปมาด้วยกล้องดิจิตอล

โหลดลงคอมพิวเตอร์เสร็จ

เปิดดู

แล้วก็ทิ้งมันไว้ในฮาร์ดดิสก์อย่างนั้น

ไม่ได้เหลียวแลมันอีก

นานๆครั้งที่นึกถึงจึงไปค้นหามาเปิดดูอีกครั้ง

ผมไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี่

ไม่เถียงด้วยว่าดิจิตอลนั้นแสนจะสะดวก
ค้นหาก็รวดเร็วกว่า
ติด tag อะไรก็ได้
ถ่ายมาเมื่อไหร่ก็รู้
ที่ไหนยังรู้เลย
งานตกแต่งก็สวยงามรวดเร็ว

แต่เหมือนเราจะรีบเคี้ยวรีบกลืนยังไงก็ไม่รู้
ความละเมียดชื่นชมกับรูปแต่ละรูปลดลง


เราไม่สามารถจ้องจอคอมพิวเตอร์ได้นานๆเหมือนจ้องกระดาษ
รูปบางรูปต้องการเวลา
บางครั้งมองรูปนั้นนานๆ
ความทรงจำก็ย้อนกลับมาเหมือนกับไทม์แมชชีนเชียว (^^

ผมชอบพลิกดูรูปถ่ายจากอัลบั้ม
มากกว่าดูหน้าจอคอมพิวเตอร์

ผมชอบเขียนอะไรด้านหลังรูปถ่าย
มากกว่านั่งทำ tag บนคอมพิวเตอร์

แน่ละ
คนมีคนบ่นว่า
หูย..รูปเป็นพันๆจะมานั่งทำอย่างนั้นได้ไง

ก็อย่าถ่ายเยอะสิครับ
เลือกเฉพาะที่เด็ดๆแล้วค่อยกดชัตเตอร์


ตั้งแต่กล้องดิจิตอลเริ่มราคาถูก
จนผู้คนสามารถจับต้องได้
กล้องฟิล์มก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ
พอๆกับการอัดรูป

เมื่อก่อนเราเห็นโฆษณาฟิล์มบ่อยมาก
มีแทบทุกช่วงเวลาของวัน

เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแม้แต่อันเดียว

ผมนึกแปลกใจว่า
บริษัทฟิล์ม หรือบริษัทหมึกพิมพ์ หรือแม้แต่บริษัทผลิตกระดาษอัดรูป
ทำไมไม่ผุดแคมเปญเช่นนี้มาบ้าง

"ความทรงจำทีี่่ไม่มีวันเลือนหาย"

"ความสุขที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก"

ลองดูรูปด้านล่างสิครับ

รูปแม่ผมสมัยมัธยมยังอยู่เลย

ตั้งเกือบห้าสิบปีแล้วมั้ง

ถ้าเป็นดิจิตอลไฟล์
อาจหายไปตอนไวรัสกินคอมหรือตอนไฟกระชาก

หรือถ้าไรท์ลงซีดี
ก็ต้องก๊อปปี้ใหม่ทุกๆ 2-5 ปี
ไม่งั้นก็หายเกลี้ยงเหมือนกัน


ถ่ายฟิล์มหรือดิจิตอลก็ได้

แต่เรามาอัดรูปกันเถอะ!!



mom-1r

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

10 กล้องฟิล์ม ที่น่าเก็บสะสมประจำศตวรรษนี้


10.Rolleiflex 2.8 โรไลเฟล็ก 2.8 เป็นกล้องชนิด Twin Lens Reflex ที่สร้างชื่อให้กับโรไล ใช้ฟิล์มมีเดี่ยมฟอร์แมตขนาด 120 มีชื่อเสียงด้านการถ่ายภาพขาวดำ เลนส์ของโรไลมีการไล่เกรย์สเกลได้ดีมาก ได้ภาพขาวดำที่คมชัด เหมาะแก่การติดอันดับมากๆ
ราคาปัจจุบัน มือสอง ประมาณ 3 หมื่นบาท






9.Cosina CX-2 เป็นกล้อง 35มม. ต้นแบบของกล้อง LOMO LC-A ที่โด่งดัง ปัจจุบันหายากในตลาดของมือสอง มีภาพที่เป็นเอกลักษณ์คือมีขอบดำ อุปกรณ์ที่หายากของกล้องนี้คือ มอเตอร์ขึ้นฟิล์ม ปัจจุบันการขายกล้องรุ่นนี้พร้อมมอเตอร์ขึ้นฟิล ์ม อยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ




.HOLGA N เป็นกล้องวิวไฟน์เดอร์ มีเดียมฟอร์แมตขนาด 120 ผลิตที่ฮ่องกง กล้องรุ่นนี้อยู่ในข่ายของกล้องของเล่น อุปกรณ์ทุกชิ้นทำจากพลาสติก ได้ภาพที่เป็นเอกลักษณ์คือ มีขอบฟุ้งหรือขอบดำ และที่เด่นที่สุด คือจุดบกพร่องของกล้องรุ่นนี้ที่กลายเป็นสิ่งที ่นักถ่ายภาพแนวโลโม่หลงไหลคือ แสงที่รั่วเข้าฝาหลัง เพราะฝาหลังของมันไม่มีฟองน้ำบุ จึงทำให้มีแสงรั่วเข้าได้ แต่สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดภาพที่สวยงามโดยไม่ได้ตั ้งใจ ปัจจุบันยังมีการผลิตอยู่ ราคาประมาณ 1500 บาท



7.Yashica 635 เป็นกล้องมีเดีียมฟอร์แมต ชนิด Twin lens reflex จุดเด่นของมันอยู่ตรงที่ เป็นหนึ่งในไม่กี่รุ่นที่มีอแดปเตอร์สำหรับทำให ้ใส่ฟิล์ม 135 ได้ ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ปัจจุบันหายากพอสมควร




6.LOMO LC-A เป็นกล้องที่ได้ต้นแบบมาจาก Cosina CX-2 แต่กลับมีชื่อเสียงมากกว่า เนื่องจากได้ภาพที่มีเอกลักษณ์ และเป็นกล้องที่ได้ชื่อว่า King of LOMO ผู้ที่ถ่ายภาพแนวโลโม่ควรมีไว้ในครอบครอง เพราะเป็นกล้องที่ให้เอกลักษณ์ของความเป็นโลโม่ มากที่สุด คือมีขอบดำ ให้สีที่อิ่มตัว ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว แต่ราคาของใหม่ที่ยังคงค้างสต๊อกอยู่ประมาณ 10000 บาท




5.Rollei 35 ถือเป็นราชาของกล้องวิวไฟน์เดอร์ ใช้เลนส์โรไล ให้ภาพที่มีสีสันสดใส และอ่อนหวานตามสไตล์โรไล มีแหล่งผลิตจากสองที่คือสิงค์โปร์และเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิด ปัจจุบัน ตัวที่ผลิตในเยอรมันมีราคาสูงมาก



4.Canon AE-1 เป็นกล้อง SLR ระบบแมนนวลที่สร้างชื่อเสียงให้กับแคนนอนเป็นอย ่างมาก ปัจจุบันรุ่นนี้ได้เข้าทำเนียบกล้องคลาสสิกไปแล ้ว ที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคยใช้กล้องรุ่ นนี้ และได้ปรากฏอยู่ในภาพที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมร าษฎร ณ ถิ่นทุรกันดารหลายๆภาพ จนเป็นที่คุ้นตา



3.Nikon FM2 กล้องรุ่นนี้ถือเป็นกล้องฝาแฝดที่สูสีกันมากับ Canon AE-1 ซึ่งทั้งสองรุ่นได้กลายเป็นรุ่นคลาสสิกและหายาก ปัจจุบัน FM2 มีราคาสูงกว่ากล้องรุ่นใหม่หลายรุ่นทีเดียว อีกทั้งกล้องรุ่นนี้ยังเหมาะกับการใช้ฝึกถ่ายหร ือสำหรับการเรียนถ่ายภาพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นระบบแมนนวล ต้องใช้ฝีมือของผู้ถ่ายเป็นอย่างมาก ปัจจุบันราคามือสองอยู่ที่ 8000-15000 ขึ้นอยู่กับเลนส์


2.Hasselblad 500CM เชื่อว่ากล้องรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ผู้อ่าน คงจะไม่คุ้นหูมากที่สุด เพราะกล้องรุ่นนี้มีการใช้กันในระดับของการถ่าย แฟชั่น หรือถ่ายภาพทิวทัศน์ ลงแมกกาซีนหรือสิ่งพิมพ์ที่ต้องการภาพที่มีคุณภ าพสูง กล้องรุ่นนี้ผลิตในเยอรมัน เป็นกล้องระบบ SLR ชนิดมีเดียมฟอร์แมต 120 สามารถเปลี่ยนแมกกาซีนใส่ฟิล์มเป็นขนาดต่างๆหรื อใส่ฟิล์มโพลารอยด์เพื่อถ่ายเทสต์แสง ปัจจุบันราคาของมันพร้อมเลนส์ อยู่ในหลักแสนเท่านั้น


1.Leica M6 มาถึงอันดับ 1 ของการจัดอันดับ คงจะเป็นรุ่นไหนไปไม่ได้นอกจากรุ่นนี้ Leica M6 เป็นกล้องระบบ Range Finder ผลิตที่ประเทศเยอรมัน เ้ชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการถ่ายภาพคงจะไม่มีใครไ ม่รู้จัก หรือแม้พระเจ้าอยู่หัวของคนไทย ก็ยังทรงใช้กล้องรุ่นนี้ ผมเคยอ่านเจอว่า บริษัทไลก้าได้ผลิตกล้องรุ่นเฉพาะของพระองค์เอง ถวาย ผมคิดว่าบริษัทไลก้าคงได้เห็นพระปรีชาสามารถของ ท่านในด้านการถ่ายภาพ สิ่งที่สร้างชื่อให้กับกล้องยี่ห้อนี้คือเลนส์ เลนส์ของไลก้าเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพและราคาสูงมา ก จนขนาดที่บางคนบอกว่า หากซื้อเลนส์ของไลก้าบางรุ่น มูลค่าของเลนส์สามารถนำไปซื้อบอดี้ของกล้องได้ถ ึง 2 ตัวเลยทีเดียว เหตุที่ราคาสูงเพราะชิ้นเลนส์ของไลก้าผลิตที่ปร ะเทศเยอรมันซึ่งมีทรายที่ได้ชื่อว่าเป็นทรายที่ ดีที่สุดในโลก ซึ่งทางไลก้าได้ใช้ทรายนั้นในการผลิตเลนส์ อีกทั้งเลนส์ของไลก้ายังมีการหมักเลนส์เพื่อให้ เลนส์คงสภาพอยู่หลายๆปี กว่าจะนำออกมาขาย เพื่อให้ได้เลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ ปัจจุบันกล้องรุ่นนี้ถูกจัดให้อยู่ในหนึ่งในกล้ องตัวสำคัญของโลก เป็นหนึ่งในการพัฒนาไปอีกระดับของกล้องในยุคหนึ ่ง ราคาของบอดี้ไลก้ามีตั้งแต่ หลักหมื่นบาท ส่วนเลนส์นั้น มีหลายระยะใ้ห้เลือกใช้ ซึ่งมีราคาอยู่หลักหมื่นถึงหลักแสน ถึงจะเป็นราคาที่แพง แต่หากได้เห็นภาพที่ถ่ายจากไลก้าแล้ว คงจะคิดว่า ราคาที่จ่ายไปนั้น คุ้มค่ากับผลงานที่ได้ออกมาเป็นอย่างยิ่ง




ที่มา; จำเวปไม่ได้ ขอโทษคุณคนเขียนด้วย

กว่าจะมาเป็นแผ่นเสียง - How Vinyl Records Are Made

เขาทำแผ่นเสียงกันยังไงมาดูกันครับ





วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Shortcut to know Hasselblad Story

Hasselblad ก่อตั้งโดย Victor Hasselblad ชาวสวีเดนครับ
Carl ziess ผู้ผลิตเลนส์ระดับโลก ให้กับ Hasselblad อยู่เยอรมันครับ
Hasselbald คือกล้องสองสัญชาติ นี่คือการให้เกียรติกันอย่างน่ายกย่อง
ความจริง Hasselblad จะเหมาเป็นเลนส์ตัวเองตั้งแต่แรกผลิตก็ไม่มีใครรู้ครับ

HASSELBLAD พอจะแบ่งประเภทคร่าวๆ ได้ดังนี้ครับ
Series V
Series 200
Series 900
Series 2000
ArcBody
FlexBody
Series H

Series V หมายถึงกล้องตระกูล 500
เป็นกล้องระบบกลไกล้วนๆ ครับ

เช่น 500C > 500CM > 501CM
503CX > 503CXi > 503CW
500EL > 500ELM > 500ELX > 553ELX > 555ELD
(500EL series มีมอเตอร์ในตัวสำหรับเลื่อนฟิล์มอัตโนมัติ)

Series 200 หมายถึงกล้องตระกูล 200 เป็นกล้องระบบไฟฟ้าที่ทันสมัย
และมีความแม่นยำในการทำงานสูงมาก
เช่น 205 TCC >
202 FA > 203 FA > 203 FE

Sereis 900 เป็นกล้องที่ออกแบบให้ถ่ายภาพในมุมกว้างเช่น Landscape หรือ Architecture Body ติดเลนส์มุมกว้างตายตัวถอดเปลี่ยนไม่ได้ คือ Biogon 38mm T+ ให้ความคมชัดสูงมากๆ
เช่น 903 SW > 903 SWC 905 SWC

Seires 2000 เป็นกล้องที่มี Shutter speed ที่ตัวกล้อง ใช้กับเลนส์ F series [ ไม่มีชัตเตอร์ที่ตัวเลนส์หมือนอย่างเลนส์ C CF series เฉพาะเรื่องเลนส์ต้องอีกหัวข้อนึงแล้วละครับ]
เช่น 2000 FC > 2000 FCW

ArcBody เป็นกล้องที่ออกแบบให้ถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ ผลิตน้อยมากและผลิตช่วงสั้นๆ เพียง 3-4 เท่านั้นก็เลิกผลิต

ArcBody มีเลนส์ สามตัวคือ 35mm 45mm 75mm แต่ละตัวราคาเกินเอื้อมครับ (เลนส์ทั้งสามตัว ชไนเดอร์ ผลิตให้ครับ ไม่ใช่ Carl Ziess แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสองของโลกที่ผลิตเลนส์ได้ดีมาก )

FlexBody ออกแบบให้มีการทำงานคล้ายๆ กับกล้อง Large Format ในขนาดย่อส่วนเป็น Medium Format [คงนึกภาพออกนะครับกล้องที่มีเพียงกระดาษหรือผ้าพับๆ เรียกว่า Bellow ] ปรับ Shift tilt and swing ได้เหมือน Large format หรือ กล้อง4x5 แต่ไม่ได้มากนักครับ ใช้เลนส์ CF series ตั้งแต่ 40mm-60mm ในกรณีถ่าย Architech 80mm-250mm ในกรณีถ่าย product shot ครับ ไม่เหมาะกับการนำมาถ่ายภาพ Portrait อย่างยิ่ง เพราะโฟกัสยากและทำทำงานได้ช้า

Series H คือกล้องแบบใหม่ที่ Hasselblad ไมเคยคิดที่จะผลิต แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด
Series H คือกล้อง Medium format 645 AF [Film size 6x4.5cm] Auto Focus ไม่ใช่ 6x6cm เหมือนที่เคยผลิต Fuji จากแดนอาทิตย์อุทัยคือที่ที่ Hasselblad ร่วมห้วจมท้ายด้วย Hasselblad H1 จึงถือกำเนิดขึ้น ตามมาด้วย H2 และ H3 ซึ่งตอนนี้ใช้ Digital back ล้วนๆ ไม่มีฟิล์มอีกแล้วสำหรับกล้องตระกูลนี้

[ หมายเหตุ : Series H ผลิตโดย Fuji Japan > Made in Japan 100% ]
ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากครับ ที่เปิดโอกาสให้ผมได้มาเล่าเรื่องราวของ Hasselblad ให้กับบรรดาผู้ใฝ่หาความรู้ ได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้น


Hassy User

The Practical Zone System for Film and Digital Photography

The Practical Zone System for Film and Digital Photography

The PEN Story



โฆษณากล้อง Olympus PEN
ถ่ายแบบ Stop motion
กว่า 60000 ภาพ
ชอบไอเดีย(แม้จะไม่ได้เป็นคนคิดเอง)
เพลงเพราะ
ดูแล้วอยากได้กล้องจัง :)


Down Below
Johannes Stankowski

Be just who you want to be, my friend
You just got to trust in fate.
Do the things you want to do ‘cause life don’t wait
Take it easy, keep your head up high
No need for sorrow and despair
Just keep on moving, it’s such a wonderous world out there

The years are flashing by and everything will change
But way down deep inside - we all just stay the same
And down below
Old memories come alive and then we know
Down below

It’s a long road we all got to walk
But there’s an awful lot to see
And the sun keeps rising up wherever you may be
Fly the ocean, dive into the blue
No need for sorrow and despair
Just keep moving, it’s such a wonderous world out there

The years are flashing by and everything will change
But way down deep inside - we all just stay the same
And down below
Old memories come alive and then we know
Down below

The years are flashing by and everything will change
But way down deep inside - we all just stay the same
And down below
Old memories come alive and then we know
Down below

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

The Photographer 's Eye - Composition and Design for Better Digital Photos

โดย Michael Freeman

หนังสือเล่มนี้ดีมากๆ
จะช่วยให้เรารู้จักมองแบบมีจังหวะ
คอมโพสิชั่น การวางกรอบรูป
คิดก่อนที่จะกดชัตเตอร์
ภาพถ่ายของคุณจะดูดีขึ้นเยอะครับ :)


โดนลบเสียแล้วเอาใหม่ตามลิงค์นี้นะครับ




http://depositfiles.com/files/wnssqmeia