วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Fuji X100



หล่อที่สุด..

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลังเลนส์ช่างภาพไทยระดับโลก สุเทพ กฤษณาวารินทร์

จากหนังสือImage magazine -perspective
.
หลังเลนส์ช่างภาพไทยระดับโลก
.

.
สุเทพ กฤษณาวารินทร์
.
.
[ เรื่อง : ฝน หว่านไฟ ภาพ : จิระวุฒิ ศิริจันทร์ ]
.
เขา เป็นช่างภาพสารคดีที่ทำงานมาร่วม 20 ปี มีผลงานตีพิมพ์ตามหน้าสื่อชั้นนำในเมืองไทยไม่บ่อยครั้ง แต่งานภาพถ่ายของเขาไปปรากฏอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ระดับโลกสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ผลงานของเขายังจัดแสดงในงานนิทรรศการภาพถ่ายในหลายประเทศ ทั้งในประเทศไทย จีน กัมพูชา ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส

ล่าสุด งานภาพถ่ายชุด ‘สี่พันดอน’ ได้รับรางวัล Days Japan International Photojournalism Award ประเทศญี่ปุ่น และรางวัล National Press Photographers Association (NPPA) จากสหรัฐอเมริกา หลังจากข้ามพรมแดนตะวันออก เข้าไปเก็บภาพชุดนี้ในแผ่นดินลาวอยู่เป็นระยะ ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา เขาก็ข้ามพรมแดนตะวันตก สู่พม่าและบังกลาเทศเพื่อทำงานชุดต่อไป

นอก จากงานที่นำเสนอสู่สาธารณะ ตัวตนของเขาไม่เป็นที่ปรากฏบ่อยนัก ทัศนะและเบื้องหลังการทำงานถ่ายภาพของเขาในครั้งนี้ อาจเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับคนที่สนใจงานถ่ายภาพได้บ้าง อาจเป็นประเด็นถกเถียงแลกเปลี่ยนในหมู่ช่างภาพ หรือแม้กระทั่งกับคนดูภาพตามหน้าสื่อ-แม้เพียงผ่านๆ ก็ไม่สูญเปล่าแน่นอนกับการฟังความจากนักถ่ายภาพคนนี้ -สุเทพ กฤษณาวารินทร์


คุณเริ่มต้นสนใจการถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไร

ช่วง เรียนมหาวิทยาลัยปีท้ายๆ ผมเริ่มเข้าป่าดูสัตว์ ได้เข้าไปตามหมู่บ้าน แล้วมีความรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่เป็นอาชีพของเราในอนาคตได้ และได้ทำประโยชน์บางอย่างคืนสู่สังคมด้วย ก็พบว่าเราเขียนไม่เก่งพูดไม่เก่ง และเราไม่ได้อยากนั่งทำงานในสำนักงานเหมือนคนทั่วไป เพราะผมชอบอิสระ คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานประจำ เราชอบที่จะใช้ชีวิตแบบค้นหาความจริงอะไรบางอย่าง และถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้เพื่อนร่วมสังคมได้เห็นด้วย

คุณนิยามตัวเองว่าเป็นช่างภาพแนวไหน

สารคดี หรือเปล่า? ในเมืองไทยชอบเรียกกันอย่างนั้น แต่ผมว่ามันก็ไม่เชิง เมืองนอกเขาใช้คำว่า documentary ใช้เวลามากกว่างานถ่ายภาพทั่วไปสักหน่อย แต่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นช่างภาพ ผมเป็นเหมือน messenger ที่จะนำข่าวสาร ใช้คำว่าช่าง-ภาพ บางทีเดี๋ยวคนเขาจะจ้างไปถ่ายภาพตามสวนลุมฯ อะไรอย่างนั้น มันไม่ใช่ ส่วนหนึ่งเราอาจต้องสร้างงานศิลปะด้วยหรือเปล่า ก็ไม่รู้นะ จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือต้องการสื่อสาร มันเป็นการสื่อสารมากกว่าการเป็นช่าง เป็นการนำสื่อออกไปให้คนจำนวนมากได้เห็น ได้คิดตามพูดง่ายๆ ว่าเราเป็นผู้นำข้อมูล ข้อเท็จ-จริงออกไปสู่ผู้คน ผ่านมุมมองผ่านการถ่ายทอดของเรา เป็นตัวกลางในการนำสารมันอาจจะไม่สำคัญเท่าไรว่าจะนิยามแบบไหน เพียงเราพอใจในสิ่งที่เราทำ และสำคัญที่สุดคืองานของเราเป็นประโยชน์

ต่อสังคม -อย่างที่คุณว่าไว้

และต่อตัวเราด้วย คนถ่ายต้องอยู่รอดด้วย

ทุกวันนี้คุณอยู่ได้ด้วยรายได้จากการถ่ายภาพ

ช่างภาพแนวสารคดีอยู่ยาก แต่ห้าปีหลังจากเริ่มต้นถ่ายภาพผมก็อยู่ได้มาตลอดยังไม่เคยทำงานประจำ
ต้อง ขายภาพให้ฝรั่ง ขายนอกตลอดตอนแรกภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยคล่อง แทบติดต่ออะไรไม่ได้ ก็ลองมั่วๆ ติดต่อฝรั่งที่อยู่ในเมืองไทย ถามจากเขา บางทีเขาเขียนเรื่องเราก็ไปถ่ายภาพ ตอนหลังพอเห็นช่องทางเราก็ติดต่อเอง ขายภาพโดยตรง พองานเราปรากฏมากขึ้นเอเจนซี่ก็มาเชิญ เอเจนซี่ผมมีทั้งที่มีสำนักงานอยู่ในเมืองไทย และที่อเมริกา พอขายได้เขาก็มาจ่ายเรา แต่ค่าบริการสูง เขาหัก 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดที่ขายได้ สูงมาก แต่หักค่าเอเจนซี่แล้วเรายังได้ภาพละ 100 เหรียญยูเอสขึ้นไป


ทำอย่างไรครับถึงจะอยู่รอด
ภาพเหล่านั้นตีพิมพ์ที่ไหนบ้าง

ที่ เอเจนซี่ขายไปบางทีผมไม่รู้ ที่รู้ก็มี The New York Times, International Herald Tribune, Geographical, Aera, Japan Times, Geo และ National Geographic Adventure งานของผมแพร่อยู่ในญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศสเยอรมัน ฮอลแลนด์ ส่วนใหญ่เป็นยุโรปอเมริกา ประเทศที่เจริญแล้ว เพราะประเทศอื่นคงไม่สามารถสู้ราคาภาพได้ ยกเว้นตอนที่เราทำงานรณรงค์ก็เอาภาพมาแสดงให้เขาได้ดูฟรี




แล้วภาพที่ตีพิมพ์ในเมืองไทย ได้ค่าตอบแทนอย่างไร

นิตยสาร ไทยจ่ายผมไม่กี่พันบาท หรืออย่างตอนที่ผมแสดงภาพถ่ายก็มีนักข่าวมาขอ ทุกคนคิดแต่จะขอภาพฟรีอย่างเดียว ไม่คิดจะจ่ายตังค์ อันนี้ต้องพูดกันตรงๆ ขณะที่นิตยสารเมืองนอกโดยทั่วไปเขาจะจ่าย แต่อัตราในบ้านเรามันอยู่ไม่ได้ อย่างรูปหนึ่งจ่ายกันพันหนึ่งอะไรประมาณนี้ ส่วนใหญ่เหมาไปเรื่องละสักสองหมื่นบาท รวมค่าเขียนด้วย ถ้านับเป็นรูปก็ไม่ถึงสองพันบาท

เป้าหมายในการถ่ายภาพของคุณคืออะไร

การ นำเสนอความจริงผ่านภาพถ่าย และความจริงเหล่านั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหา และการปกป้องสิ่งมีคุณค่าที่เรานำมาถ่ายทอด โดยส่วนตัวผมถือว่าผมเป็นผู้สื่อสารออกไป พยายามไม่ไปจัดอะไร อาจใช้มุมมองบ้าง มีแนวคิดของตัวช่างภาพบ้าง แต่ต้องเจือปนน้อยที่สุด เราพยายามให้คนดูได้อรรถรส แต่เนื้อหาต้องมีอยู่ในตัวของมันเอง

ไม่จัดฉากหรือแต่งเติม

ใช่ แต่บางทีมันก็ต้องมีบ้าง อย่างกำลังจะถ่ายมีขยะอยู่ตรงหน้าชิ้นหนึ่ง ก็ไปเก็บออกก่อน แต่ไม่ใช่ไปเปลี่ยน โดยเฉพาะการเปลี่ยนเนื้อหา หลายคนจัดโดยการเปลี่ยนเนื้อหา จัดในสิ่งที่ไม่มีจริง อันนี้ใช้ไม่ได้ แต่การจัดอย่างบอกเขาให้หันข้างอีกนิดมันเป็นปรกติที่ช่างภาพทุกคนก็ทำกัน มันต้องแยกให้ถูกว่าอันไหนเป็นวิธีที่ผิด อย่างการไปเปลี่ยนเรื่องราว อย่างนั้นไม่ได้

อย่างขยะชิ้นที่คุณว่า ถ้าถ่ายติดมาแล้วลบออกทีหลังได้ไหม

เรื่อง นี้ผมเห็นเขานั่งเถียงกันแทบเป็นแทบตาย ถ้าไม่คอขาดบาดตายก็อาจจะได้หรือไม่ได้ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่ถ้าเป็นเราเราอยากให้มันจบตอนถ่าย การถ่ายภาพที่เน้นความเป็นจริง มีเรื่อง moment in time ด้วย

จากยุคฟิล์มมาสู่ดิจิตอล คุณมีข้อสังเกตอะไรไหมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ

หลักการเหมือนเดิม ภาพถ่ายสร้างด้วยแสง แต่เทคโนโลยีไปของมัน ถ้าคุณตามไม่ทันก็ตกยุค

แค่เครื่องมือที่เปลี่ยน

ใช่ หลักการถ่ายภาพยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ภาพถ่ายคือการที่บันทึกเรื่องราวบันทึกความทรงจำ ไม่ว่ามือระดับไหนก็เพื่อบันทึกความทรงจำ บันทึกเพื่อตัวเอง เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ดู แต่ในฐานะของช่างภาพสารคดี หรือช่างภาพข่าว ก็เป็นบันทึกความทรงจำเหมือนกัน แต่เพื่อให้คนอื่นได้เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไปตรงนั้นได้

ข้อดีของดิจิตอล คือ ทำให้คนเข้าถึงภาพถ่ายได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่อาจมีข้อเสียอย่างที่พูดกันคือ มีการแต่งเติมกันได้มากขึ้น ยิ่งเมื่อมีอินเตอร์เน็ตเข้ามา มีดิจิตอล เกือบทุกคนต่างก็คิดว่าตัวเองเป็นช่างภาพอาชีพหมด ยกภาพตัวเองให้ฟรีๆ เพื่อจะได้ตีพิมพ์ ทุกวันนี้กลายเป็นอย่างนี้แล้ว ซึ่งมันก็ดีถ้าภาพของเขาดี แต่ทุกวันนี้ดูจับฉ่ายมากขึ้นเรื่อย

คุณว่าดิจิตอล คุณภาพเทียบเท่าฟิล์มสไลด์หรือยัง

ผม ว่าขึ้นกับความชอบส่วนตัว คนที่ใช้ก็ว่าเท่า ที่ไม่ยอมใช้ก็ว่าไม่เท่า ผมว่าอย่าไปนั่งเถียงกันเลย มันขึ้นกับว่าคุณใช้แค่ไหน คนที่พูดว่าดิจิตอลยังไม่ละเอียดเท่าฟิล์มน่ะ บางทีก็พรินต์อยู่แค่ขนาดโปสการ์ด ไม่ได้พรินต์ขนาดเป็นเมตรมาโชว์กันสักหน่อย แล้วก็บอกว่ากล้องดิจิตอลต้องละเอียดเท่านั้นเท่านี้ ความจริงส่วนมากก็พรินต์กันขนาดไม่เกิน 8x10 นิ้ว ซึ่งความละเอียดของกล้อง 5-10 ล้านพิกเซล เพียงพอแล้วสำหรับงานขนาดนี้


ถ่ายภาพดิจิตอลมาแล้ว คุณต้องปรับแต่งอะไรไหม

ภาพ ที่เป็นไฟล์ดิจิตอล เราต้องปรับให้ได้ขนาดที่ต้องการ ถ่ายมากี่พิกเซล เราต้องมาปรับให้อยู่ในมาตรฐานที่จะขยาย เช่นความละเอียดที่ถ่ายมา 10 ล้าน พิมพ์ได้ประมาณขนาด A4 หรือปรับขยายใหญ่กว่านี้ได้ ตามขนาดที่อยู่ในระดับของความคมชัด นอกนั้นก็ปรับคอนทราสต์ให้อยู่ในระดับเดียวกับฟิล์ม ไฟล์ดิจิตอลสีอาจจะตุ่นๆ หน่อย ต้องปรับสีบ้างนิดหน่อย

คุณมีวิธีจัดเก็บภาพอย่างไร

เก็บ เป็นเรื่อง เก็บ 2-3 ที่ สมัยแรกๆ ภาพเคยหาย เก็บในซีดี แผ่นเสีย เดี๋ยวนี้ใช้แผ่นแพงหน่อย ใช้ดีวีดีเป็นส่วนใหญ่ และใส่ในฮาร์ดไดรฟ์ด้วย อย่างน้อยต้องมีสองที่

ไฟล์ดิจิตอล‘หลุด’ออกไปง่าย คุณเคยถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ้างหรือเปล่า

มี หนังสือพิมพ์บางครั้งก็เอาไปใช้ผิดประเภทแบบไม่บอก ในงานแสดงภาพของผม เขาขอไปจากผู้ช่วยของผม ว่าจะเขียนเรื่องงานแสดงภาพ แต่ไปเขียนเรื่องอื่นแล้วเอาภาพผมไปใช้ พอผมท้วงติงไปเขายังอ้างว่าเขามีสิทธิ์ ผมถามว่าคุณมีสิทธิ์ตรงไหน แต่เราตัวเล็กๆ บางทีก็ลำบาก ไม่รู้จะไปพูดอย่างไร

ทุกวันนี้ คุณว่าช่างภาพอาชีพอยู่ยากขึ้นไหม

ผมไม่รู้ เพราะไม่เคยทำงานแบบรายวันรายประจำ ผมยังมีส่วนของผมอยู่ เราไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อหากินไปวันๆ อยู่แล้ว




อะไรที่ถือเป็นอุปสรรคในการทำงานของช่างภาพเมืองไทย

เงิน ค่าตอบแทนที่จะทำให้อยู่ได้ เงินเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ช่างภาพรุ่นใหม่เกิดได้ยาก งานแนวนี้ยังไม่ก้าวไปไหน เพราะค่าตอบแทนยังอยู่ไม่ได้ อย่างช่างภาพหนังสือพิมพ์ ถ่ายทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ วิ่งกันหัวหมุน ต่างประเทศเขาก็วิ่งกันอย่างนี้ แต่ก็ยังพอครีเอตอะไรได้ ตามถ่ายเรื่องลึกๆ ได้ หรือเน้นเฉพาะทางไปเลย คือเอาเวลาช่วงหนึ่งไปเลย ค่าตอบแทนก็สูงทำให้อยู่ได้

ด้านการยอมรับทางสังคมล่ะครับ ศักดิ์ศรีของช่างภาพเมืองไทย กับในต่างประเทศ ต่างกันไหม

"เงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่างภาพรุ่นใหม่เกิดได้ยากงานแนวนี้ยังไม่ก้าว ไปไหนเพราะค่าตอบแทนยังอยู่ไม่ได้อย่างช่างภาพหนังสือพิมพ์ถ่ายทุกอย่าง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ วิ่งกันหัวหมุนต่างประเทศเขาก็วิ่งกันอย่างนี้แต่ก็ยังพอครีเอตอะไรได้ตาม ถ่ายเรื่องลึกๆ ได้ หรือเน้นเฉพาะทางไปเลย คือเอาเวลาช่วงหนึ่งไปเลย ค่าตอบแทนก็สูง ทำให้อยู่ได้"

เมืองนอกให้ค่าตอบแทนและการยอมรับ มากกว่า เขาอาจคิดว่าเป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคม แต่เมืองไทยเราค่อนข้างน้อย ส่วนด้านการเจาะลึกในเมืองไทย -สำหรับงานเขียนผมเห็นบ้าง แต่ภาพถ่ายดูแล้วไม่น่าสนใจเลย เรื่องเขียนได้ แต่ถ่ายรูปให้มันออกมาดูน่าสนใจหน่อยได้ไหม

อย่างนั้นลองบอกหน่อยว่าภาพที่ดีควรเป็นอย่างไร

ไม่ รู้ พูดยาก แต่ดูแล้วทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับมัน แต่นั่นเป็นภาพหายากและไม่ใช่ทุกคนจะถ่ายภาพหายากได้ อาจต้องโชคดีเรื่องจังหวะด้วย มันพูดยาก ต้องเห็นแล้วผมจะบอกได้ว่าใช่

ภาพถ่ายภาพหนึ่ง คุณหวังว่ามันจะ‘ทำหน้าที่’แค่ไหน

ผม เชื่อนะว่า ถ้ามันเป็นภาพที่ดี ที่มีความหมาย มีการนำเสนอที่ถูกต้อง และมันสามารถเข้าไปถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและเขากล้าทำในสิ่งที่ถูก ก็สามารถเปลี่ยน-แปลงอะไรได้ ไม่ใช่แค่ภาพถ่าย แต่รวมถึงงานศิลป์ทุกแขนง

ช่าง ภาพทุกคนผมว่าฝีมือน่ะมี แต่จะเอาให้ได้คอนเส็ปต์ด้วย เอาแบบมานำเสนอได้ด้วย ตรงนี้ต้องหาสิ่งที่สำคัญกว่า จะถ่ายภาพให้สวยสักภาพหรือสักเรื่องก็ถ่ายได้ แต่จะให้เรื่องนั้นน่าสนใจด้วย เอาแบบนำเสนอในเมืองไทยได้ ขายทั่วโลกได้ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรได้รับรู้ และควรจะร่วมแก้ปัญหาที่ได้รู้เห็น จะเป็นเรื่องอะไรล่ะ เรื่องนั้นเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าทำเรื่องนั้นเพื่ออะไร

ตามงานประกวดภาพที่เห็นกันอยู่ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า มุมมองของช่างภาพกระแสหลักเป็นอย่างไร ผมยังไม่เห็นภาพที่สื่อความหมายในเมืองไทยสักเท่าไร อาจเพราะวงการเป็นอย่างนี้ทำให้งานพัฒนาไปได้ยาก

คุณไม่เคยส่งภาพประกวดในเวทีเมืองไทยเลยหรือ

ไม่เคยส่งครับ

ทำไม

ถ้าเขายังมองภาพถ่ายกันอย่างนั้น ผมไม่ส่ง เขาต้องการเมคภาพ เมคให้สวยใครก็เมคได้ แต่ภาพจะไม่มีพลัง ไม่มีตัวตน ไม่มีจิตวิญญาณ

เมื่อเห็นว่าวงการเป็นอย่างนี้ คุณหวังว่างานของตัวเองจะช่วยอุดช่องโหว่ตรงนั้นไหม

จะ ให้ผมทำอย่างไรครับ สิ่งที่ทำได้คือให้การศึกษากับคนที่ผมให้ได้ ผมคงไม่อาจไปเปลี่ยนทั้งวงการ หากเขาพอใจจะมองภาพแบบนั้น ผู้อ่านผู้ชมพอใจกับภาพอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไปเปลี่ยนแนวคิดของสังคม ผมคงเพียงแต่นำเสนอความจริงในส่วนที่ผมพอนำเสนอได้

ให้เขาดูแล้วคิดตามก็โอ.เค.แล้ว กับคนที่สอนได้ก็สอน

ผม เปิดเวิร์กช็อปทั้งในเมืองไทย และที่เสียมเรียบ ทำมาสามปีแล้ว สอนช่างภาพหนุ่มสาว อายุไม่เกินสามสิบปี จากทั่วเอเชียคัดเลือกจากแนวคิดและผลงาน เอามาสอนมีเวิร์กช็อป เก็บค่าเรียนแค่แปดพันบาท

สอนอะไรพวกเขาบ้าง

ไม่ใช่ สอนให้เขาคิดเหมือนเรา แต่เป็นการให้แนวทางว่าถ้าจะถ่ายภาพสักชุด ควรมีภาพอะไรบ้าง ใครเป็นตัวเอก การดำเนินเรื่องจะเป็นอย่างไร สถานที่เป็นที่ไหนทีนี้ถึงเวลาเขาเริ่มไปถ่าย วันแรกอาจยังไม่เข้าที่ พอวันที่สองที่สามก็ดูว่าได้ตามโครงเรื่องที่เขาเสนอไหม ต้องปรับอะไรตรงไหน มานั่งดูภาพกันเสร็จแล้วก็ดูว่าภาพส่วนไหนขาดต้องเพิ่มอะไร เสร็จแล้วก็มา edit ภาพกัน ว่าภาพที่ถ่ายมาได้เรื่องราวหรือเปล่า สอนเรื่องการคัดภาพให้ได้เรื่องด้วย เช่น ในชุดหนึ่งมีสิบสองภาพ ภาพหนึ่งอาจแทนตอนหนึ่งอย่างทำเรื่องสุนัขจรจัด มีหัวข้อหนึ่งเรื่องสุนัขถูกรถชน บางคนเอามาห้าภาพ ซึ่งไม่จำเป็น หัวข้อหนึ่งอาจใช้ไม่เกินสองภาพ เอาภาพที่ดีที่สุดให้แทนเรื่องทั้งตอนได้

คุณให้ความสำคัญกับความงามของภาพแค่ไหน

องค์ ประกอบของภาพที่ดีคือหนึ่ง ต้องมีเรื่องราว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อีกอย่างคือความงามทางศิลปะ ความงามตามธรรมชาติมองเห็นง่าย แต่ความงามที่สร้างขึ้นจากเส้นสายอารมณ์ของคนเป็นอีกขั้นหนึ่ง แม้ภาพที่สื่ออารมณ์หดหู่ก็ต้องมีองค์ประกอบของศิลปะแสงเงาเข้ามาช่วย

.


หลักการถ่ายภาพแบบสุเทพเป็นอย่างไร

เท คนิกตายตัวไม่มี ปรับไปตามสภาพ อย่างงานชุดสี่พันดอนผมใช้เลนส์ wide 16 มม. เป็นส่วนใหญ่ เพราะบางครั้งอยู่ในเรือระยะใกล้มาก บางทีใช้เลนส์ normal ไม่ใช้อุปกรณ์มาก เน้นที่ให้ได้เรื่องราวของภาพอุปกรณ์เสริมไม่เคยใช้เลย แฟลชก็ใช้น้อยถ้าใช้ต้องแยกจากกล้อง

ในฐานะช่างภาพที่ถือว่าไปสู่ระดับอินเตอร์ฯ แล้ว คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานของช่างภาพฝรั่ง

วิธี การทำงาน ผมว่าไม่ต้องไปตามแบบฝรั่ง ช่างภาพเอเชียที่อยู่ในระดับโลกหลายคนชอบตามฝรั่ง วิธีมองสังคม เขามองแบบฝรั่ง ไม่ได้มองอย่างมองประเทศตัวเอง คุณจะทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดให้คนเห็นว่าตัวคุณมองประเทศตัวเองสังคมตัวเอง แบบไหน ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปสู่ระดับอินเตอร์ฯได้

วิธีการทำงานของ ช่างภาพไทยเอาความเป็นมืออาชีพของฝรั่งมาใช้ได้ แต่นำเสนอวัฒนธรรมของเรา คนไทยอาจชอบมองแต่เรื่องดีๆ แต่ถ้าในสังคมมีปัญหาคุณก็ต้องนำเสนอ อย่างตอนที่มีกระแสเรื่องเอดส์ในเมืองไทยใหม่ๆ ผมไม่เห็นช่างภาพไทยไปถ่ายสักคน แต่ฝรั่งเขามาถ่ายนำเสนอจนได้รางวัลไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ในเรื่องหนึ่งๆ เราต้องนำเสนอทุกด้าน ไม่จำเป็นว่าต้องเฉพาะแต่ด้านดี เรื่องไม่ดีก็ต้องนำเสนอ

อย่างเป็นกลางด้วยไหมไม่มีทาง ผมเชื่อว่ามันต้องเอียง ตัวผมบางครั้งก็เอียงไปบ้าง แต่เราก็พยายามนำเสนอภาพของทุกฝ่าย ความจริงมันอยู่ตรงไหน แต่แน่นอนว่าต้องดูว่าใครผิดถูกต้องเลือกฝ่ายที่ถูกมากกว่า

อย่างที่ ผมบอก ทุกวันนี้เราพยายามเดินตามฝรั่ง เดินตามความคิดอเมริกันทำให้โลกนี้มีปัญหา ทุกวันนี้เหมือนกับว่าความคิดแบบอเมริกันถูกไปเสียทั้งหมด ในกลุ่มช่างภาพก็เช่นกัน ส่วนใหญ่มีแต่ภาพในลักษณะแนวคิดแบบอเมริกันที่ได้รางวัล ผลรางวัลเกี่ยวกับภาพถ่ายออกมาแนวนี้ทุกปีต้องเป็นภาพเกี่ยวกับอิรัก หรือไม่ก็สงครามในอัฟกานิสถาน ทำไมถึงมีแต่เรื่องราวพวกนี้ที่ได้รางวัล โลกนี้ไม่ได้เป็นของอเมริกันเท่านั้น ภาพเหล่านั้นเป็นสงครามของอเมริกัน ไม่ใช่สงครามของคนทั้งโลก

แล้วผลงานของคุณได้รางวัลจากเวทีพวกนี้หรือเปล่า

ก็เวทีพวกนี้ คือแม้เราไม่ได้คิดแบบเขาแต่ทำให้เขายอมรับได้

อย่าง เรื่องสี่พันดอน ไม่ใช่สงครามไม่ใช่สถานการณ์ฮิตในรอบปี แต่ได้รางวัลจากหลายเวที และยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Blue Earth Alliance ด้วย เวทีเหล่านี้เป็นการประกวดแบบเป็นภาพชุดเป็นเรื่องราว ต่างจากการประกวดภาพถ่ายในเมืองไทย ที่มักประกวดเป็นภาพๆ ไม่ใช่เรื่องราว

การทำงานแต่ละชุด คุณวางแผนอย่างไรบ้าง

ตั้ง โจทย์จากเรื่องที่รู้ แล้วมาคิดต่อว่าน่าสนใจไหม หาข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลก็วางโครงเรื่องไว้คร่าวๆ ว่าเราต้องถ่ายอะไรบ้างแต่เมื่อลงไปทำงานก็อาจมีภาพที่เราไม่คาด-ฝัน ภาพในเรื่องที่เราจะมาถ่าย จึงไม่อาจกำหนดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เป็นไปตามโครงได้ราวห้าสิบ-ห้าสิบ

อย่างงานชุดสี่พันดอน เป็นมาอย่างไร

ผม ไปแถวแม่น้ำโขงมาหลายครั้ง ได้ลงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ก็คิดอยากทำเป็นเรื่องใหญ่ จากต้นน้ำถึงปลายแม่น้ำ ตอนหลังพบว่ามีคนทำแล้วหลายคน ก็คิดว่าเราน่าจะไปหาจุดที่เขายังไม่ได้ทำ และบางจุดที่เขายังไม่ได้ทำอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนราวปี 2544ได้ไปแถวสี่พันดอน ทางภาคใต้ของลาวรู้สึกว่าที่นั่นยังไม่มีใครเก็บเรื่องราวเชิงลึก มีแต่คนไปเที่ยวดูน้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี แต่ชีวิตคนหาปลา และระบบนิเวศที่นั่น ผมดูแล้วมันน่าสนใจ

ดอน หมายถึง เกาะ จริงๆอาจไม่ถึงสี่พันเกาะ แต่เขาเรียกให้เห็นภาพเกาะแก่งที่มีอยู่เยอะมากจุดนี้แม่น้ำโขงแยกออกเป็น หลายสาย ก่อนจะมารวมตัวกันอีกที ช่วงกว้างที่สุดราว 14 กิโลเมตร ยาว 50กิโลเมตร ผมเน้นที่สะโฮง หลี่ผีคอนพะเพ็ง เพราะเป็นจุดที่จับปลาได้มากที่สุด ทุกประเภท ทุกฤดูกาล

การจับปลาของชาวประมงที่นั่นน่าสนใจตรงไหน

เป็น วิธีหาปลาที่ดูน่าจะเป็นวิธีที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นการหาปลาในตัวน้ำตก หรือกลางกระแสน้ำเชี่ยวกราก การสร้างหลี่ ดูแล้วเป็นเครื่องมือเป็นภูมิ-ปัญญาที่หาดูที่ไหนไม่ได้

หลี่ -หน้าตาเป็นอย่างไร

ลักษณะ คล้ายสะพานขาดกลาง ที่ใหญ่สุดกว้างราว 7-8 เมตรยาว 20-30 เมตร สร้างกลางน้ำตรงจุดที่คิดว่าจะมีปลาว่ายผ่านตัดทวนน้ำขึ้นมา เขาจะสร้างหลี่ดักไว้ เขาอาจวางไว้กลางแม่น้ำ หรือริมขวาริมซ้ายก็มี ปลาที่ขึ้นผิดจังหวะกระแสน้ำเชี่ยวจะพัดตกลงในหลี่หลี่เป็นเครื่องมือเด่น ของการหาปลาแถวนั้นได้ปลาทีละเป็นตันๆ

การเข้าพื้นที่ยากไหม

ผม ใช้เวลาหลายปี เพราะต้องมั่นใจว่าต้องปลอดภัยในการลงไปอยู่กับชาวบ้านการลงไปในน้ำตกที่จะ ถ่ายภาพ การว่ายน้ำในฤดูน้ำหลากซึ่งอันตรายมาก อุปกรณ์ต้องพร้อม ต้องมีคนในพื้นที่ที่ไว้ใจได้ เพราะเราต้องการเข้าไปลึกๆ ถึงแถบที่เขาหาปลาต้องไปนอนในหมู่บ้าน หรือตามที่เขาไปตั้งแคมป์หาปลา แถวนั้นเป็นชายแดนที่ทางราชการไม่ต้องให้คนต่างชาติเข้า ทั้งหมดนี้ทำให้ใช้เวลานาน

จนถึงปี 2547 เราได้รู้จักคนที่มีบ้านอยู่ที่นั่น และพ่อแม่เขามีอาชีพหาปลา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ ไปกินนอนในหมู่บ้าน หลังจากนั้นเราก็ไปๆมาๆ เพื่อเก็บภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอพยพของปลาด้วย บางครั้งไปอยู่เดือนหนึ่ง หรือสองสัปดาห์ หรือไม่กี่วันก็มี ในช่วงสามปีผมเดินทางไปประมาณสิบกว่าครั้ง

พอไปขลุกอยู่ในพื้นที่จริงๆ สถานการณ์รอบด้านน่ากลัวอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า

สถานการณ์ ไม่มีอะไร ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ต้องเสี่ยงจึงจะได้ภาพ ส่วนความเป็นอยู่เราต้องแจ้งกับทางการว่าเป็นญาติของบ้านที่ไปอยู่ ตอนหลังก็สนิทกันเหมือนญาติจริงๆ เพราะพอไปอยู่นานๆ ก็สนิทสนมกันเขาช่วยเรา เราก็ช่วยเขา ตอบแทนเป็นเงินทองบ้าง หาของไปให้บ้าง

นอกจากประเด็นที่คุณสนใจแล้ว ได้พบเห็นอะไรจากพื้นที่นั้นบ้าง

สิ่ง สำคัญคือได้เห็นความสำคัญของพื้นที่แม่น้ำโขง ซึ่งมีมากอย่างทหี่ าค่าเปรียบไม่ได้สำหรับคนที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำ โดย-เฉพาะคนลาว คนเขมร ที่ต้องพึ่งน้ำโขงเป็นหลักทั้งในการอุปโภคบริโภค คนในแถบนี้ราวหกสิบล้านคน ต้องอาศัยปลาในแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีน นี่เป็นข้อมูลที่เรารู้ แต่การลงไปคลุกคลีทำให้เราได้เห็นภาพ ก็ทำให้เรายิ่งเชื่อว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับสายน้ำกับธรรมชาติได้ ถ้าไม่มีการพัฒนาจากข้างนอกเข้าไปทำให้ยุ่งยากวุ่นวาย เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เห็นปลาขนาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ปลาชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน มันขึ้นมาทีเป็นตันๆ ปลาน้ำจืดนะ

ในการถ่ายภาพเสี่ยงอันตรายแค่ไหน

แม่ น้ำโขงช่วงนั้นแตกเป็นสายใหญ่ๆเป็นสิบๆ สาย รวมสายย่อยด้วยก็มากกว่านี้จะมีคนหาปลาอยู่เกือบทุกสาย มีการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไป อย่างลำสะ-โฮงที่รัฐบาลจะสร้างเขื่อนนี่ เป็นช่องทางเดียวที่ปลาทุกชนิดผ่านได้ในทุกฤดู ถ้าปิดตรงนี้ก็เหมือนปิดทั้งหมด ทำให้ปลาข้างล่างไม่สามารถติดต่อกับปลาข้างบนได้ ปลาจากทะเลสาบเขมร และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ข้างบนได้เป็นร้อยปีมาแล้วที่บริเวณนี้ จะมีการสร้างหลี่มากที่สุด มีชาวบ้านจับปลาอยู่มากที่สุด และเป็นบริเวณที่จับปลาได้มากที่สุด ปลาใหญ่อย่างปลาบึกก็จับได้ที่นี่ หลี่บางตัวสร้างกลางแม่น้ำ ตอนสร้างไม่เท่าไร เพราะทำในฤดูแล้ง แต่เมื่อสร้างเสร็จ ราวช่วงเดือนกรกฎาคมน้ำจะแรงมาก หลี่บางตัวเจ้าของใช้เรือเครื่องเข้าเทียบ แต่บางตัวเจ้าของใช้วิธีว่ายข้าม หรือไต่ตามเชือกไปหลายครั้งเราก็ต้องตามเชือกนั้นไป ระยะ 30-40 เมตร เขารู้วิธีเอาตัวรอด เพราะเขาอยู่มานาน แต่เราต้องเอากล้องไปด้วย บางที่บางจุดต้องใช้เครื่องมือปีนเขา ต้องใช้การแก้ปัญหามาก บางที่ต้องข้ามไปที่ดอนกลางน้ำ ต้องไต่สลิง ช่วงยาวๆ ราว 40-50 เมตรเอนไปเอนมา เพราะเขาก็ผูกกันแบบชาว-บ้าน

คุณได้ภาพมาเยอะไหม

ไม่ ได้นับ ช่วงแรกใช้ฟิล์มก็หลายร้อยม้วน ช่วงหลังใช้ดิจิตอล ถ้าเป็นจำนวนภาพก็คงหลายหมื่น แต่เราไม่ใช่ถ่ายมั่วไปหมดเราตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะเน้นอะไร ภาพไม่ใช่แค่ให้สื่อสารได้ แต่หวังว่าภาพจะถูกนำเสนอสู่การแก้ไขปัญหาหรือการอนุรักษ์

เมื่อนำเสนอเผยแพร่ออกไปแล้ว ถึงเป้าตามที่หวังไหม

ผมว่าเกิดผลพอสมควร เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงและเอาภาพไปเป็นสื่อรณรงค์ทั้งในเมือง-ไทยและเขมร

การทำงานชุดนี้มีผู้สนับสนุนทุนด้วยหรือเปล่า

งาน ภาคสนามไม่มี สามปีผมทำงานด้วยทุนตัวเอง แต่เมื่อเอาไปใช้ในกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ เขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เราให้รูปไปใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์โดยไม่คิดค่าตอบแทน

.

.
ภาครัฐล่ะ ให้การสนับสนุนอะไรไหม

องค์กร รัฐบาลมีแต่จะสร้างจะทำลายเวลาเชิญเขามารับฟังปัญหาเขาไม่เคยมา ประสงค์แต่จะทำลายอย่างเดียว ที่ผมเข้าไปทำงานนี้รัฐบาลท้องถิ่นของลาวก็จับตามองอยู่เหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่าเขื่อนไม่ดีทุกกรณี แต่สำหรับพื้นที่ที่แม่น้ำยังมีชีวิต มีคนใช้ประโยชน์ มีพันธุ์ปลา มีระบบนิเวศที่ยังสมบูรณ์ ผมว่าต้องพิจารณา รัฐบาลไม่ว่าประเทศไหนมักเลือกทำโครงการใหญ่ๆ ลงทุนสูงๆ โดยไม่มองว่าอันไหนมีผลกระทบมากน้อยกว่ากัน ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขามีความคิดแบบนั้น ประเภทโครงการขนาดเล็ก ผลกระทบน้อย และส่งผลดีถึงอนาคตเขาไม่ค่อยเลือกเขื่อนยังเป็นปัญหาหลักของแม่น้ำ เมื่อสิบปีที่แล้วเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น บางแห่งคงหยุดไม่อยู่ แต่บางแห่งก็มีโอกาสที่จะหยุดได้

ด้วย…

ด้วยการกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

คิดว่าภาพที่คุณถ่ายมาจะมีส่วนช่วยหยุดยั้งได้บ้างไหม

หวัง ว่า...อาจไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันได้ยินว่า ตอนนี้โครงการเขื่อนดอนสะโฮงถูกทบทวน ส่วนหนึ่งอาจมาจากงานของเรา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีหลายส่วนที่เขาช่วยกันผลักดัน และผู้ที่ต้องการเขื่อนก็ไม่ใช่รัฐบาลกลาง แต่เป็นรัฐบาลท้องถิ่น

ภาพชุดสี่พันดอนถือเป็นมาสเตอร์พีซของตัวเองไหม

ก็ ดีที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่เคยทำมา แต่มันอาจจะมีชิ้นอื่นที่ดีขึ้นอีก ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ งานใหม่ๆ แต่ละชิ้นเราก็หวังว่าเมื่อมีประสบ-การณ์มากขึ้นเราจะทำได้ดีขึ้น

คุณตั้งใจจะทำโครงการอะไรต่อ

ไม่ อยากบอก เพราะพูดไปอาจทำให้ลำบากเรื่องการเข้าพื้นที่ ขอเล่าแต่เพียงว่าเป็นเรื่องชนไร้สัญชาติจากประเทศเพื่อน-บ้านกลุ่มหนึ่ง ที่เพิ่งเป็นข่าวดังมาก ทำมาตั้งแต่ก่อนจะมีข่าว คิดมาเป็นปีเพราะต้องเตรียมคอนเส็ปต์นาน เพิ่งได้เริ่มทำเมื่อกลางปีที่แล้ว พอเป็นข่าวใหญ่ก็ทำงานยาก เพราะเราต้องทำแบบเจาะลึก ต้องวางจุดหมายว่าทำไปเพื่ออะไร จากนั้นก็ขอทุนนี่เป็นชิ้นแรกที่ขอทุนทำ ก่อนนี้ผมทำด้วยเงินทุนตัวเอง

ได้เบาะแสประเด็นนี้มาจากไหน

สาม ปีมานี้ผมเริ่มได้เห็นข่าวคนกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในใจมา พอได้คุยกับเพื่อนฝรั่งที่ตามเรื่องนี้โดยตรงมาเป็นสิบปี ก็เห็นว่าน่าสนใจ และเขาก็อยากให้มีคนมาทำจริงจัง ผมเห็นว่าน่าสนใจก็ลงมือทำ เพราะคิดว่าเผ่านี้เป็นชนเผ่าที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนหนักที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ก็คิดว่ามันน่าจะมีการช่วยเหลือเวลาทำอะไรผมอยากให้มันเกิดผลในทางสังคมที่ เห็นชัด เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ต้องร่วมมือกัน เราอยากเป็นเหมือนสื่อกลางที่จะเข้าไปเป็นผู้หยิบยกประเด็น จุดประกายให้เขาเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา

งานผมจะต่างจากงานคนอื่นตรง นี้ คือเราไม่ใช่แค่ไปถ่ายรูปมาตีพิมพ์แล้วจบ แต่เป็นเหมือนตัวดึงให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามารวมตัวกัน หรือใช้งานของเราเพื่อการรณรงค์อะไรก็ตามแต่

ชนเผ่านี้น่าสนใจอย่างไรในสายตาคุณ

เป็น ชนเผ่าที่เจ้าของประเทศไม่ยอมรับเป็นพลเมืองทั้งที่อยู่มาหลายร้อยปี อาจเพราะเขาเป็นมุสลิม รัฐบาลเผด็จการถึงไม่ต้องการ เคยถูกผลักดันใหญ่เมื่อปี 2518 และปี 2534 อีกรอบ ตอนนั้นเขาอพยพเข้าบังกลาเทศ เพราะชายแดนติดกัน ในประเด็นสิทธิมนุษยชน เผ่านี้อาจเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกละเมิดมากที่สุดในโลก คนล้านกว่าคนไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศไหนเลย จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน

จุดไหนที่มาเกี่ยวข้องกับเมืองไทย

เมือง ไทยเป็นแค่ทางผ่าน แต่มีบางคนที่ผ่านมาแล้วแวะอยู่เมืองไทยก็มี การอพยพมีมาเป็นสิบๆ ปีแล้วละ ทางเท้าเข้ามาทางแม่สอด ตอนหลังเขามาทางเรือ และหลายปีหลังมานี้ เมื่อเข้าสู่มาเลเซียเขาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้อพยพ แต่เข้าไปเพื่อใช้แรงงาน

ตอนนี้คุณเก็บภาพไปถึงไหนแล้ว

ตอน แรกวางไว้สองปี แต่ยังไม่รู้ว่าจะจบได้หรือเปล่า ผมไปมาเลเซียมารอบหนึ่งแต่ยังไม่ได้อะไร เพราะหลังเป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทย พวกเขาอยู่ที่นั่นก็กลัว เพราะถูกตำรวจมาเลเซียไล่จับทุกวัน จริงๆ แล้วมาเลเซียก็ไม่ต้องการพวกนี้ แต่พอเป็นข่าวก็กลัวถูกนานาชาติประณาม แต่ยังมีการจับกุมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเงียบๆและปลายปีที่แล้วก็ไป ถ่ายที่บังกลาเทศมาหนหนึ่ง

ได้ภาพดีๆ บ้างแล้วหรือยัง

ได้ครับ ตอนไปที่อาเจะห์ อินโดนีเซียผมไปตามเรือลำหนึ่ง วันรุ่งขึ้นเรืออีกลำเข้ามาพอดี ทำให้เราได้ภาพ

งานนี้คุณลงพื้นที่เองหรือมีองค์กรไหนพาไป

มี องค์กรช่วยในบางพื้นที่ ถ้าที่ไม่ยากอย่างในประเทศไทย ที่ระนอง ส่วนใหญ่เราก็ลงเอง แต่บางพื้นที่ต้องใช้เส้นสายบ้าง ไม่อย่างนั้นเข้าไม่ได้ อย่างในที่คุมขัง เราจึงต้องพึ่งบางองค์กรที่คิดว่าเขาจะช่วยเราได้ในเรื่องการประสาน เมื่องานออกมาเขาก็เอาภาพของเราไปใช้ในงานรณรงค์ได้ เขาจะได้ประโยชน์ตรงนี้

คุณถ่ายภาพคนชายขอบ’มามากแล้วเคยคิดอยากถ่ายคนในกระแสอย่างพวกนางแบบบ้างไหม

ไม่

รังเกียจอะไรหรือ

ไม่รังเกียจอะไร แต่เขาดังอยู่แล้ว ผมไม่ต้องไปทำให้เขาดังเพิ่มขึ้นอีก

คุณถ่ายภาพมาร่วมยี่สิบปี มีภาพไหนประทับใจที่สุด

มัน ไม่มีภาพไหนเป็นพิเศษ มีหลายช๊อตที่ถ่ายแล้วดี ได้เอาไปใช้ในงานรณรงค์ มันแล้วแต่ว่าประทับใจในแง่ไหน ถ้าประทับใจในแง่ส่วนตัวก็ภาพถ่ายครอบครัวเรา ลูกเราเพราะอย่างที่บอก ภาพถ่ายมันเป็นบันทึกความทรงจำ

มีเรื่องหลังเลนส์อะไรจะเล่าให้คนดูภาพได้รับรู้อีกบ้าง

ทุก ภาพที่เห็น คนถ่ายรูปพยายามสื่อความจริงออกมาให้ตรงที่สุดแล้ว แต่เบื้องหลังคือการเสี่ยงอันตรายเพื่อจะนำความจริงมาเสนอ บางคนใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อจะได้ภาพๆ หนึ่งมา แต่คนดูภาพอาจไม่รู้ว่ามันได้มาอย่างไร

ในความเห็นของคุณ การถ่ายภาพถือเป็นงานศิลปะไหม

แล้ว แต่คนมอง ในระดับหนึ่งก็ใช่ แต่ต้องชั่งว่าอันไหนสำคัญกว่า งานประเภทนี้เรื่องราวมันก็ยังสำคัญกว่า ศิลปะเป็นส่วนเสริมให้ภาพน่าดูมากขึ้น

แล้วถือเป็นงานสร้างสรรค์ไหม

ผมว่าสร้างสรรค์สังคมมากกว่า ไม่ใช่สร้างสรรค์ในแง่ของการสร้างภาพขึ้นมา ไม่ใช่ภาพลักษณะนั้น เป็นงานสร้างสรรค์ในเชิงคุณค่า

มองปลายทางชีวิตช่างภาพของตัวเองอย่างไร

เป็น ชีวิตหนึ่งที่เกิดมา ได้ทำในสิ่งที่คิดว่าถนัดและรักมัน ก่อนที่เราจะจากไป ได้ทิ้งอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนในสังคมไว้บ้าง แค่นั้นก็โอ.เค.แล้ว แต่เราต้องอยู่รอดด้วย

ไม่ใช่ไปช่วยคนอื่น แต่ตัวเราอยู่ไม่ได้ อย่างนั้นใช้ไม่ได้

*สัมภาษณ์เมื่อ 25 พฤษภาคม 2552

เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 30 มกราคม 2011, 06:25:26 PM »





สุเทพ กฤษณาวารินทร์

เป็นคนกรุงเทพฯ เคยเรียนในคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่จบ


หัดถ่ายรูปครั้งแรกด้วยกล้องของพ่อ นับถึงวันนี้เขาถ่ายรูปมาร่วม 20 ปี ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ช่างภาพที่ดีควรเป็นทั้งผู้สังเกตการณ์ และ ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ผลงานภาพถ่ายแนวสารคดีของเขาได้ออกแสดงตามนิทรรศการภาพถ่ายมาแล้วหลายประเทศ ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส และได้รับการตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำทั่วโลก


ในปี 2551 ผลงานภาพถ่ายชุด Siphandon...Mekong Fishing Under Threat (สี่พันดอน...เมื่อประมงแม่น้ำโขงถูกคุกคาม) ได้รับรางวัลจากประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และมีการนำภาพชุดนี้ไปใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านสังคม ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขงและในระดับสากล